รีเซต

"อินเดีย" วืดส้มหล่นภาษีทรัมป์ เหตุขาดแรงงาน l การตลาดเงินล้าน

"อินเดีย" วืดส้มหล่นภาษีทรัมป์ เหตุขาดแรงงาน l การตลาดเงินล้าน
TNN ช่อง16
12 พฤษภาคม 2568 ( 14:43 )
11

ในศูนย์กลางการผลิตเครื่องนุ่งห่มทางตอนใต้ของอินเดีย อาร์. เค. ศิวสุพรมนิอัม (R.K. Sivasubramaniam) กรรมการผู้จัดการของบริษัท Raft Garments กำลังได้รับคำร้องขอจาก Walmart และ Costco ให้ผลิตสินค้า เพราะต้องการหลีกเลี่ยงภาษีที่สูงขึ้นของสหรัฐฯ ที่ซัพพลายเออร์ในเอเชียคู่แข่งอย่างบังคลาเทศและจีนต้องเผชิญ แต่แถวของสายการเย็บปักที่ไม่ได้ใช้งานในโรงงานของเขากลับเผยให้เห็นถึงความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของบริษัท นั่นก็คือการขาดแคลนแรงงาน กรรมการผู้จัดการของ Raft Garments ซึ่งจำหน่ายชุดชั้นในและเสื้อยืดราคาต่ำถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯให้กับแบรนด์ดังของสหรัฐฯ กล่าวว่า ถึงจะมีคำสั่งซื้อเข้ามา ก็ต้องใช้แรงงาน เราไม่มีแรงงานเพียงพอ

เมืองติรุปปูร์ (Tiruppur) ในรัฐทมิฬนาฑู ทางตอนใต้ของอินเดีย ถือเป็นเมืองหลวงแห่งเสื้อถักของอินเดีย โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออกเครื่องนุ่งห่มของประเทศเกือบ 1 ใน 3 จากมูลค่า 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และกำลังมองเห็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ เนื่องจากผู้ซื้อชาวสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเพิ่มแหล่งซื้อสินค้าจากอินเดีย ท่ามกลางสถานการณ์ที่ศูนย์กลางการค้าแห่งอื่น ๆ ในเอเชียมีภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากสหรัฐฯ วางแผนที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก ในอัตราร้อยละ 26 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งต่ำกว่าอัตราภาษีที่เรียกเก็บจากบังกลาเทศและเวียดนาม ภาษีดังกล่าวจะทำให้เครื่องแต่งกายจากอินเดียสามารถแข่งขันกับบังกลาเทศและจีนได้มากขึ้น

แต่บรรยากาศที่ติรุปปูร์ (Tiruppur) กลับไม่ได้คึกคักอย่างที่คิด เมื่อต้องเผชิญกับความเป็นจริงว่า ความหวังของอินเดียในการใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบด้านภาษีศุลกากรถูกขัดขวางโดยวิกฤตขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ การประหยัดต่อขนาดหรือ Economic of scale ที่จำกัด และต้นทุนที่สูง

Raft Garments ต้องการขยายการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อใหม่ แต่จะต้องนำเข้าเครื่องจักรระดับไฮเอนด์เพื่อทำให้กระบวนการเย็บผ้าบางส่วนเป็นแบบอัตโนมัติ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจนี้ขึ้นอยู่กับแรงงานต่างด้าวเป็นอย่างมาก ซึ่งหายากหรือรักษาไว้ได้ยากมาก

ตามการสัมภาษณ์ของ Reuters กับกลุ่มผู้ผลิต 10 รายและกลุ่มการค้าผู้ส่งออกเครื่องแต่งกายที่เป็นตัวแทนธุรกิจ 9,000 รายพบว่า ผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปในอินเดียกล่าวว่าคนงานจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรม และหลายคนลาออกภายในไม่กี่เดือนเพื่อไปทำงานในบริษัทขนาดเล็กที่ไม่ได้จัดตั้งอย่างเป็นระบบซึ่งอนุญาตให้ทำงานนานขึ้นและจ่ายเงินมากขึ้น ผู้ผลิตขนาดใหญ่ไม่สามารถจับคู่กับลูกค้าต่างประเทศได้เนื่องจากข้อกำหนดด้านต้นทุนและเงื่อนไขด้านแรงงาน

เป็นเวลานานหลายปีแล้วที่นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ได้พยายามดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้าร่วมโครงการ Make in India ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนประเทศในเอเชียใต้แห่งนี้ให้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลก การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะในประเทศที่แรงงานร้อยละ 90 ทำงานในภาคส่วนที่ไม่เป็นทางการ ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ โดยเฉพาะในภาคส่วนที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม

โดยโรงงาน Cotton Blossom ซึ่งผลิตเสื้อผ้าได้ 1.2 ล้านตัวต่อเดือน ส่วนหนึ่งสำหรับ Bass Pro Shops ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกอุปกรณ์กีฬาของสหรัฐฯ นาวีน ไมเคิล จอห์น กล่าวว่า ได้ตั้งศูนย์จักรเย็บผ้า 3 แห่งห่างออกไปหลายพันไมล์เพื่อจัดหาแรงงานต่างด้าว และฝึกอบรมเป็นเวลา 3 เดือน ที่ส่วนใหญ่ก็กลับบ้านเกิดของพวกเขาไปหลังจากผ่านไปเพียง 7 เดือน

ข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า จีน เวียดนาม และบังกลาเทศเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกของสหรัฐฯในปี 2567 โดยจีนส่งออกสินค้ามูลค่า 16,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เวียดนามส่งออก 14,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และบังกลาเทศส่งออก 7,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่อินเดียส่งออกสินค้ามูลค่า 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เป็นเวลาหลายปีแล้วที่บริษัทต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ได้ขยายห่วงโซ่อุปทานของตนออกไปนอกประเทศจีน ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และแม้ว่าจะยังไม่มีข่าวเรื่องภาษีศุลกากรในเดือนเมษายน ซึ่งตอนนี้หยุดชั่วคราวไปจนถึงเดือนกรกฎาคม อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของบังกลาเทศก็เริ่มสูญเสียความโดดเด่นท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองของสหรัฐฯ

การสำรวจแบรนด์เครื่องแต่งกายชั้นนำ 30 แบรนด์ของสหรัฐอเมริกาโดยสมาคมอุตสาหกรรมแฟชั่นแห่งสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นว่าอินเดียได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการจัดหาสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปี 2567 โดยผู้ตอบแบบสอบถามเกือบร้อยละ 60 วางแผนที่จะขยายการจัดหาสินค้าจากที่นั่น

ตามการคำนวณของรอยเตอร์สซึ่งอิงจากข้อมูลการนำเข้าปี 2567 ของสำนักงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของสหรัฐฯ

หากมีการเก็บภาษีดังกล่าว ต้นทุนการส่งออกของอินเดียจะอยู่ที่ 4.31 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตารางเมตรของเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเทียบกับ 4.24 ดอลลาร์สหรัฐฯของบังกลาเทศและ 4.35 ดอลลาร์สหรัฐฯของจีน ซึ่งถือว่าดีขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับความสามารถในการแข่งขันของอินเดียที่ไม่รวมการเก็บภาษีดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม อินเดียจะพ่ายแพ้ในแง่ของการประหยัดต่อขนาด สมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มบังกลาเทศระบุว่า โรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มโดยเฉลี่ยมีคนงานอย่างน้อย 1,200 คน ในขณะที่ในอินเดีย ตามข้อมูลของสภาส่งเสริมการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม มีคนงานเพียง 600 - 800 คนเท่านั้น

มิทิเลศวาร์ ทาคูร์ จากกลุ่มการค้าของอินเดียกล่าวว่า กำลังการผลิตของบังกลาเทศมีมหาศาล เรามีปัญหาด้านกำลังการผลิตที่จำกัด ขาดการประหยัดต่อขนาดเนื่องจากโรงงานมีขนาดเล็ก และขาดแคลนแรงงานในช่วงฤดูกาลผลิตสูงสุด เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ผู้ผลิตเสื้อผ้าจึงได้เริ่มตั้งโรงงานในรัฐต่างๆ ที่มีแรงงานอพยพมาจากที่นั่น

ในเมืองติรุปปูร์ สมาคมการส่งออกระบุว่าผู้ส่งออก 100 อันดับแรกมีส่วนสนับสนุนยอดขาย 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 50 จากยอดขายในปีงบประมาณที่แล้ว ส่วนที่เหลือมาจากอีก 2,400 แห่ง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าการดำเนินงานมีความกระจัดกระจายและมีขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง