ลาวคาด 'ค้าแร่' ไตรมาส 4 โกยรายได้กว่า 460 ล้านดอลลาร์
วันศุกร์ (19 พ.ย.) หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ ไทม์ส รายงานว่าสอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีลาว กล่าวระหว่างการประชุมสภาแห่งชาติลาวเมื่อสัปดาห์ก่อน ว่ามูลค่าการค้าแร่ธาตุปีนี้ของลาวคาดว่าจะสูงกว่าตัวเลขที่ตั้งเป้าไว้ร้อยละ 15.04
มูลค่าการผลิตแร่ธาตุในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2021 อยู่ที่ 12.6 ล้านล้านกีบ (ราว 3.85 หมื่นล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 91.21 ของตัวเลขที่ได้รับการอนุมัติจากสภาแห่งชาติที่ 13.8 ล้านล้านกีบ (ราว 4.22 หมื่นล้านบาท) โดยคาดว่าตัวเลขดังกล่าวสำหรับทั้งปีนี้จะสูงแตะ 15.8 ล้านล้านกีบ (ราว 4.83 หมื่นล้านบาท)
กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของลาว รายงานต่อที่ประชุมสมัชชาพรรคประชาชนปฏิวัติลาวว่ามีบริษัท 124 แห่งกำลังดำเนินโครงการสำรวจและแปรรูปแร่ธาตุ รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ในการทำเหมืองรวม 209 โครงการ โดยในจำนวนนี้มี 14 บริษัทกำลังก่อสร้างเหมืองอยู่
ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2016-2020) มูลค่าการผลิตแร่ธาตุและผลิตภัณฑ์แร่ธาตุเพิ่มขึ้นแตะ 7.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.45 แสนล้านบาท) ขณะที่มูลค่าการผลิตแร่ธาตุสำหรับอุปทานในประเทศและการส่งออกแตะที่ 8.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.63 แสนล้านบาท)
ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2021-2025) คาดว่ามูลค่าการผลิตแร่ธาตุและผลิตภัณฑ์แร่ธาตุจะสูงแตะ 7.83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.55 แสนล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้ ส่วนมูลค่าการผลิตสำหรับอุปทานในประเทศคาดว่าจะแตะที่ 1.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.42 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 จากช่วง 5 ปีก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการผลิตเพื่อการส่งออกคาดว่าจะลดลงร้อยละ 5 แตะที่ 6.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.07 แสนล้านบาท)
ลาวเป็นหนึ่งในประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรมากที่สุดในเอเชีย โดยมีแหล่งแร่ธาตุมากกว่า 570 ชนิด ทั้งทองคำ ทองแดง สังกะสี เหล็ก โพแทสเซียม หินปูน และตะกั่ว
ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรข้างต้นเพื่อกระตุ้นการพัฒนา รัฐบาลลาวจะส่งเสริมการแปรรูปแร่ธาตุให้มากขึ้นและลดปริมาณการส่งออกแร่ธาตุที่ยังไม่แปรรูป รวมถึงจะยกระดับภาคการผลิตแร่ธาตุเพื่อแปรรูปและเพิ่มมูลค่าแร่ดิบก่อนการส่งออก ตลอดจนปรับปรุงพื้นที่ทำเหมืองเพื่อป้องกันการขุดเจาะที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนั้น ลาวจะสร้างภาคแรงงานที่แข็งแกร่งขึ้น ทั้งในด้านวิศวกรรมเหมืองแร่และวิศวกรรมภูมิศาสตร์ รวมถึงสร้างกลไกทางการเงินที่ยั่งยืนเพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติและปกป้องสิ่งแวดล้อม