รีเซต

พิธีฮัจญ์แบบเว้นระยะห่าง ร่วมได้เฉพาะผู้แสวงบุญที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเ

พิธีฮัจญ์แบบเว้นระยะห่าง ร่วมได้เฉพาะผู้แสวงบุญที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเ
TNN World
20 กรกฎาคม 2564 ( 09:45 )
247
พิธีฮัจญ์แบบเว้นระยะห่าง ร่วมได้เฉพาะผู้แสวงบุญที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเ

Saudi Arabia: พิธีฮัจญ์ ในนครเมกกะ อนุญาตให้เข้าร่วมได้เฉพาะผู้แสวงบุญที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเท่านั้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

 


ตั้งแต่วันอาทิตย์ (18 กรกฎาคม) ผู้แสวงบุญชาวมุสลิมที่ฉีดวัคซีนต้านโควิดครบโดส รวมตัวกันเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ประจำปีในซาอุดีอาระเบีย แบบจำกัดจำนวน โดยในปีนี้อนุญาตให้มีผู้แสวงบุญเข้าร่วม 60,000 คน และห้ามชาวต่างประเทศเข้าร่วมเป็นปีที่สองติดต่อกัน เนื่องจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19

 

 


ฮัสซัน จาบารี ผู้แสวงบุญชาวปาเลสไตน์ กล่าวว่า ตนขอให้พระเจ้ายุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะมันทำให้เรากลัวมาก และทำให้สถานการณ์ยากขึ้นไปอีก

 


เมื่อปีที่แล้ว ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม อนุญาตให้คนเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ได้เพียงไม่กี่พันคน โดยซาอุดีอาระเบียพยายามที่จะทำฮัจญ์อย่างสงบสุข ซึ่งในอดีตเคยเกิดความวุ่นวาย ไม่ว่าจะเป็นเหตุเหยียบกันตาย ไฟไหม้ และการจลาจล

 

ทั้งนี้ ความกังวลหลักในปีนี้คือโควิด-19 ทางการจึงจำกัดอายุของผู้แสวงบุญ อยู่ที่ 18-65 ปี และต้องฉีดวัคซีนครบโดส หรือมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัส และต้องไม่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง 

 


มีการใช้หุ่นยนต์ในการฆ่าเชื้อมัสยิดใหญ่ในนครเมกกะและลานภายใน และแจกจ่ายขวดน้ำซัมซัมที่สูบจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ในนครเมกกะ เพื่อลดปฏิสัมพันธ์ของผู้เข้าร่วมพิธีและเว้นระยะห่างทางกายภาพ

 


กล้องถ่ายภาพความร้อนที่ทางเข้ามัสยิดหลวง จะคอยตรวจสอบอุณหภูมิของผู้ร่วมพิธี และมีการจัดหาเกวียนไฟฟ้าประมาณ 3,000 คัน สำหรับผู้แสวงบุญที่สวมกำไลระบุตัวตนแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่อกับ GPS

 


ผู้แสวงบุญกลุ่มเล็ก ๆ จะสวมหน้ากากอนามัยเดินรอบกะบะห์ ซึ่งเป็นโครงสร้างหินที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในศาสนาอิสลาม และเป็นทิศทางที่ชาวมุสลิมต้องละหมาด

 


จากนั้นผู้แสวงบุญจะเดินทางไปยังทุ่งมีนา ซึ่งอยู่ห่างจากมัสยิดใหญ่ในนครเมกกะไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 7 กิโลเมตร และจะใช้เวลาหนึ่งวันในการละหมาด ก่อนจะมุ่งหน้าไปยังเขาอาราฟัต สถานที่ที่ศาสดาโมฮัมหมัดแสดงโอวาทเป็นครั้งสุดท้าย
ในพิธีครั้งนี้ มีอาสาสมัครด้านสุขภาพประมาณ 500 คน คอยให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ และติดตั้งจอ 62 จอ เพื่อเผยแพร่ข้อความสร้างความตระหนักรู้เรื่องโควิดในภาษาต่าง ๆ 

 

 


ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบียใช้เงินไปหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้การชุมนุมทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลกมีความปลอดภัยมากขึ้น อนึ่ง พิธีดังกล่าวเป็นรายได้หลักสำหรับซาอุดีอาระเบีย จากค่าที่พัก ค่าขนส่ง ค่าธรรมเนียม และของขวัญของผู้ละหมาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง