จี้แบงก์ต่อลมหายใจเอสเอ็มอี
เดินมาถึงวันสุดท้ายแล้วสำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน แก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และกำหนดสิ้นสุดลงในวันที่ 22 ต.ค. โดยมีลูกหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือ 1.05 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวมประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท
ก่อนหน้านี้ ทางผู้ประกอบการทั้งหวังทั้งเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ช่วยต่อลมหายใจด้วยการขยายระยะเวลาการพักหนี้เป็นการทั่วไปออกไปอีก เพราะแม้ว่าการควบคุมโควิดของไทยจะทำได้ดี จนเริ่มทยอยกลับมาเปิดธุรกิจและเปิดประเทศได้เป็นลำดับ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว จากสถานการณ์ทั่วโลกที่ยังอมโรคจากพิษโควิดอยู่ รวมทั้งความเชื่อมั่นในการบริโภคและลงทุนในประเทศที่ยังไม่ฟื้นคืนกลับมาเป็นปกติ ทำให้ความอยู่รอดของผู้ประกอบการยังแขวนอยู่บนเส้นด้าย และจำเป็นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยาต่อไปอีกระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในมุมของธปท.เห็นว่า หากยังคงดำเนินมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไปต่อไปอาจส่งผลกระทบทางลบ ในระยะยาวได้ เนื่องจากลูกหนี้ที่พักหนี้อยู่จะยังคงมีภาระดอกเบี้ยในแต่ละเดือนตลอดช่วงการพักหนี้ ซึ่งเป็นภาระแก่ลูกหนี้ในระยะยาว และไม่ส่งเสริมให้เกิดวินัยทางการเงิน เพราะหากสถาบันการเงินยังเดินหน้าพักหนี้ต่อไปจะเป็นช่องโหว่ให้ลูกหนี้หัวหมอที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบน้อย เลี่ยงหรือประวิงเวลาการชำระหนี้ออกไปได้
ที่สำคัญคือ จะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน เพราะการพักหนี้เป็นการทั่วไปเป็นระยะเวลานาน คาดว่าจะทำให้สภาพคล่องในระบบจากการชำระคืนหนี้และดอกเบี้ยหายไปประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งจะกระทบต่อระบบเสถียรภาพสถาบันการเงิน ดังนั้น การจะดำเนินการใดๆ เพิ่มเติม จะไปคำนึงถึงลูกหนี้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยทั้งผู้ฝากเงินและสถาบันการเงินด้วย
ด้วยเหตุนี้ ธปท.จึงได้ปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากการให้สถาบันการเงินช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เป็นการให้ความช่วยเหลือเชิงรุกและตรงจุดที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย(Targeted)
โดยสิ่งที่ ธปท.ได้เจาะช่องไว้ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้หายใจหายคอเป็นเฮือกสุดท้าย คือการออกประกาศให้สถาบันการเงินคงสถานการณ์จัดชั้นลูกหนี้ถึงสิ้นปี 2563 (stand still) สำหรับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ เพื่อช่วยไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็น NPL โดยในส่วนของลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ สถาบันการเงินสามารถพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ เป็นรายกรณีได้อีกไม่เกิน 6 เดือน นับจากสิ้นปี 63 หรือถึงสิ้นเดือนมิ.ย.64
ธปท.หวังว่า มาตรการดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันการเงินเร่งดำเนินการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ พร้อมทั้งคาดหวังว่าจะไม่เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว หรือ cliff effect ขึ้นหลังมาตรการพักหนี้ครบกำหนด เนื่องจากลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้ามาตรการวงเงินประมาณ 4 แสนล้านบาท ได้รับการขยายระยะเวลาการพักหนี้ไปอีก 3-6 เดือนแล้ว
ส่วนลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ อีกประมาณ 9.5 แสนล้านบาท ซึ่งธนาคารพาณิชย์ได้ติดตามดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานะและให้ความช่วยเหลือ พบว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่แสดงเจตจำนงว่าจะสามารถจ่ายชำระหนี้ได้ตามปกติ หลังหมดมาตรการ
สำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาจ่ายชำระหนี้ได้ตามปกติหรืออาจจ่ายได้บางส่วน ธนาคารพาณิชย์ยังคงให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากพอที่จะชำระหนี้ได้ โดยจะมีหลายมาตรการมารองรับ เช่น การปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย เพื่อไม่ให้กลายเป็น NPL รวมถึงใช้มาตรการอื่นตามความเหมาะสม
ขณะที่มีลูกหนี้ 6% ของยอดสินเชื่อที่ได้รับการพักหนี้ ที่ยังอยู่ระหว่างการติดต่อ หรือยังติดต่อไม่ได้ โดยมีจำนวน 1.6 หมื่นบัญชี คิดเป็นยอดหนี้ประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้าจนถึงสิ้นปีนี้ยังไม่ยกมือแสดงตัวขึ้นมา ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการจัดชั้นลูกหนี้ และคงกลายเป็น NPL ไปในที่สุด
หลังธปท.มีความชัดเจนออกมาถึงแนวทางที่จะไม่ช่วยแบบเหมาเข่ง แต่เน้นแก้เฉพาะจุด ทางภาคเอกชน โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ระบุว่า ขอเวลา 3 เดือน ประเมินสถานการณ์ภาคธุรกิจในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เพราะไม่แน่ใจว่าลูกหนี้แต่ละรายสามารถที่จะชำระหนี้ได้ตามปกติหรือไม่
ทั้งนี้ หากมองย้อนดูเอ็นพีแอลในระบบสถาบันการเงินปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 2/63 ยอดคงค้างเอ็นพีแอลอยู่ที่ 5.09 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.09% ของสินเชื่อ หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 3.04% นอกจากนี้ในส่วนของสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ มีการค้างชำระแต่ยังไม่ถึง 3 เดือนก็ขยับเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากธปท. มีมาตรการพักหนี้
ขณะที่ข้อมูลล่าสุดจากการประกาศงบแบงก์ในไตรมาส 3/63 ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงกันถ้วนหน้าจากตัวเลขปล่อยสินเชื่อลดลง จากผลกระทบโควิด ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารในไตรมาสนี้สูงขึ้น เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ปรับขึ้น 46% ทำให้ NPL สิ้นเดือนก.ย. อยู่ที่ 3.32% เพิ่มขึ้นจาก 3.05% จากสิ้นเดือนมิ.ย. ส่วนธนาคารกสิกกรไทย NPL ในสิ้นไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.95% จากสิ้นปี 62 อยู่ที่ระดับ 3.65% จึงเป็นเรื่องที่แต่ละธนาคารต้องติดตามลูกหนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อจำกัดความเสี่ยงและไม่ให้เกิดปัญหาเรื้อรังจนบั่นทอนเศรษฐกิจได้
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และการดำเนินมาตรการผ่อนสั้นผ่อนยาวของหน่วยงานต่างๆ ตลอดช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่า วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาใหญ่ที่ฉุดเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร่ แม้กระทั่งผู้ว่าธปท. “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ยังระบุว่า บริบทของเศรษฐกิจไทยจากนี้ไป จะเห็นการฟื้นตัวที่แตกต่างกันในแต่ละภาคธุรกิจ โดยการฟื้นตัวจะใช้เวลานาน และมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่แนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากนี้ไปจะต้องตรงจุด ยืดหยุ่น ครบวงจร และลดผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว
ดังนั้นการจะฝ่าวิกฤติครั้งนี้ให้ได้นั้นทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการเงิน ประชาชนต้องร่วมมือกันประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านสถานการณ์เลวร้ายครั้งนี้ไปให้ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นกลับมายืนได้อีกครั้ง
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE