นักเศรษฐศาสตร์คาดกนง.ลดดอกเบี้ย หลังทรัมป์ขึ้นภาษี

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า จากการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เรียกเก็บภาษีเพิ่มจาก 60 ประเทศ มีผลในวันที่ 9 เมษายนนี้ ไม่ได้ส่งผลดีต่อสหรัฐแต่กลับส่งผลเสีย ภายใน 1 ปี จะฉุดเศรษฐกิจสหรัฐ และ เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ดังนั้นการประกาศปรับขึ้นภาษีแบบนี้เป็นการเรียกให้ประเทศต่างๆ เข้ามาเจรจา เข้ามานำเสนอเงื่อนไขให้กับสหรัฐ ซึ่งคาดว่าเมื่อเจรจาแล้วค่าเฉลี่ยภาษีจะลงมาอยู่ที่ราวร้อยละ 5-10 ภายใน 3 เดือน
สำหรับประเทศไทย สหรัฐเรียกเก็บภาษีเพิ่มร้อยละ 37 เชื่อว่าไทยน่าจะเลือกแนวทางเข้าไปในเจรจา เพิ่มอำนาจการต่อรอง โดยเฉพาะสร้างความร่วมมือในอาเซียน โดยแนวทางการหารือ น่าจะมีทั้ง การลดภาษีศุลกากร ภาคเกษตร และบริการ ซื้อสินค้าสหรัฐมากขึ้น เช่น พลังงาน เครื่องบิน เครื่องจักร ปราบปรามการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นโดยเฉพาะจีนแล้วส่งต่อไปยังสหรัฐ และการทำตามที่สหรัฐร้องขอ เช่น การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การลงทุนในสหรัฐเพิ่มขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลต้องเร่งเจราก่อนที่จะมีผล 9 เมษายนนี้ ไม่เช่นนั้นอัตราจะคงค้างนาน และมีผลกระทบตามมา
แต่หากเจรจาไม่สำเร็จ แล้วอัตราภาษีอยู่ในระดับที่ทรัมป์ประกาศปรับขึ้นยาวต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี จะส่งผลกระทบทางตรงต่อการส่งออกไปสหรัฐ ประเมินว่าผลกระทบต่อเอเชียทั้งหมด ร้อยละ 0.6 และไทยจะกระทบราวร้อยละ 1.1 ซึ่งยังไม่ได้รวมผลกระทบต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นเศรษฐกิจโลกจากการขึ้นภาษีครั้งนี้
พร้อมกันผลกระทบการขึ้นภาษี ไทยคงต้องมีทั้งนโยบายทั้ง การคลัง และการเงิน เข้าช่วยเหลือ โดยเฉพาะนโยบายการเงินคาดว่าน่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ 2 ครั้ง ไปอยู่ร้อยละ 1.5 โดยจะเริ่มเห็นการลดดอกเบี้ยตั้งแต่สิ้นเดือนนี้ และลดอีกครั้งในปีหน้า ลงมาเหลือร้อยละ 1.25 และหากภาษีที่ปรับขึ้นอยู่นาน ก็มีแนวโน้มที่ดอกเบี้ยจะต่ำกว่า ร้อยละ 1.25 ได้