รีเซต

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (18 มี.ค.2565)

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (18 มี.ค.2565)
TeaC
18 มีนาคม 2565 ( 17:49 )
414
เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (18 มี.ค.2565)

ข่าววันนี้ สถานการณ์วิกฤต "รัสเซียยูเครน" เข้าสู่ 23 วันแล้ว สำหรับความขัดแย้งของสองประเทศที่ดูจะยืดเยื้อ และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ล่าสุด วุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติเอกฉันท์ ชี้ ปูตินเป็น "อาชญากรสงคราม"อ่านต่อ เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (17 มี.ค.2565)


เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (18 มี.ค.2565)

 

ทูตยูเครนลั่นจะสู้จนชนะ วอนรัสเซียหยุดยิง

ในการแถลงข่าวที่ห้องประชุมโรงแรมคอนราด ซึ่งจัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตยูเครน ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 มีนาคม นายโอเล็กซานดร์ ลีซัก อุปทูตยูเครนประจำประเทศไทย กล่าวว่า กองทัพยูเครนจะสู้จนกว่าจะชนะ หลังจากที่ได้กล่าวถึงสถานการณ์ที่รัสเซียบุกยูเครน และขอให้รัสเซียหยุดยิง พร้อมทั้งขอให้เปิดทางอพยพประชาชน

 

นายลีซักเล่าว่า กองทัพรัสเซียได้โจมตียูเครน โดยใช้อาวุธหลายอย่างรวมถึงขีปนาวุธ สังหารพลเรือน และทำลายระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน รัสเซียบุกเข้าโจมตียูเครนในทุกทาง ทั้งจากเบลารุส แค้วนโดเนตสค์ แคว้นลูฮานสค์ และดินแดนไครเมีย นี่เป็นสงครามอย่างเต็มรูปแบบ ที่รัสเซียกระทำต่อยูเครน

 

ในขณะนี้ประชาชนในเมืองมารีอูปอล ซึ่งถูกรัสเซียโจมตีอย่างหนัก เสียชีวิตไปแล้วกว่า 2,300 คน ระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างโรงพยาบาล ก็ยังถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจยูเครนสูญเสียไปกว่า 565,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเส้นทางอพยพเพื่อมนุษยธรรมก็ถูกทหารรัสเซียขวาง และล่าสุดมีชาวยูเครนอพยพออกนอกประเทศแล้วกว่า 3.1 ล้านคน


อย่างไรก็ตามยูเครนได้รับสิ่งของช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแล้วกว่า 70,000 ตัน ซึ่งทำให้ยูเครนรู้สึกขอบคุณประชาคมโลกเป็นอย่างยิ่ง

 

 

กษัตริย์เบลเยียม เปิดอพาร์ตเมนต์ 2 หลังรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครน

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 18 มีนาคมระบุว่า สมเด็จพระราชาธิบดีฟิลิเป และสมเด็จพระราชินีมาธิลด์ แห่งเบลเยียม ทรงเปิดอพาร์ตเมนต์ 2 แห่งที่เป็นของมูลนิธิ “โรยัลโดเนชั่น” ให้กับผู้ลี้ภัยชาวยูเครน

 

ที่พักดังกล่าวซึ่งสามารถรองรับครอบครัวผู้ลี้ภัยได้ 3 ครอบครัว โดยเดิมเป็นที่พักที่ใช้สำหรับหน่วยงานด้านสังคมสงเคราะห์ให้เป็นที่พักพิงสำหรับคนรายได้น้อย โดยจะปรับเปลี่ยนเป็นการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวยูเครนแทน และจะพร้อมเปิดรับผู้ลี้ภัยได้ในช่วงต้นเดือนเมษายน

 

การตัดสินพระทัยของสมเด็จพระราชาธิบดีฟิลิเป และสมเด็จพระราชินีมาธิลด์ แห่งเบลเยียม ในครั้งนี้มีขึ้นหลังทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ก่อนจะเสด็จเยือนศูนย์ลงทะเบียนผู้ลี้ภัยยูเครนในเวลาต่อมา

 

ข้อมูล : มติชน

 

ศาลโลก สั่งรัสเซียหยุดโจมตียูเครนทันที

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ)  สั่งให้รัสเซียยุติการรุกรานยูเครนโดยทันที หลังจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ส่งทหารรัสเซียบุกยูเครนตั้งแต่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา

 

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ระบุว่า การที่รัสเซียใช้กำลังทหารโจมตียูเครนเป็นเรื่อง'น่ากังวลอย่างยิ่ง'

ไอซีเจ ลงมติด้วยคะแนน 13 ต่อ 2 เสียง ระบุว่า 'สหพันธรัฐรัสเซียควรหยุดการใช้ปฏิบัติการทางทหารในดินแดนยูเครนโดยทันที' 
คณะตุลาการศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยังระบุด้วยว่า รัสเซียต้องให้การรับรองว่า กองกำลังอื่นๆ ภายใต้การควบคุมหรือสนับสนุนโดยรัฐบาลมอสโก ควรจะยุติการปฏิบัติการทางทหารในยูเครน

 

ถึงแม้ว่าคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่ได้มีผลผูกพันบังคับโดยตรงต่อรัสเซียที่จะต้องปฏิบัติตาม แต่ที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ที่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ อาจถูกเสนอเรื่องต่อคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติเป็นขั้นตอนต่อไป

 

ด้าน ด้านประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเคน ทวีตข้อความทางทวิตเตอร์ แสดงความยินดีต่อคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่สั่งให้รัสเซียหยุดโจมตียูเครนทันที โดยชี้ว่านี่คือชัยชนะครั้งใหญ่ของยูเครน

 

“คำสั่งนี้มีผลผูกพันภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รัสเซียจะต้องปฏิบัติตาม เพราะหากเมินเฉยต่อคำสั่งนี้แล้ว รัสเซียจะถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น”

 

ข้อมูล : เพจเฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว 

 

ออสเตรเลีย-ญี่ปุ่น ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่ม

ขณะที่รัสเซียทำสงครามในยูเครนก้าวเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 แล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ยังคงเพิ่มแรงกดดันกับรัสเซียต่อเนื่องด้วยการประกาศมาตรการคว่ำบาตรกับชาวรัสเซีย ธนาคาร และหน่วยงานของรัฐ เพิ่มเติมอีก

 

โดยออสเตรเลียประกาศคว่ำบาตรกระทรวงการคลังรัสเซีย บวกกับธนาคารและองค์กรของรัฐของรัสเซียอีก 11 แห่ง รวมไปถึงการอายัดทรัพย์สินของธนาคารรัสเซียส่วนใหญ่ลงทั้งหมด

 

ด้านรัฐบาลญี่ปุ่น ประกาศคว่ำบาตรชาวรัสเซียเพิ่มอีก 15 คน และองค์กรรัสเซียอีก 9 องค์กร ในจำนวนนี้รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ด้านกลาโหมของรัสเซีย และบริษัทโรโซโบโรเน็กซ์ปอร์ต บริษัทผู้ผลิตและส่งออกอาวุธของรัสเซียด้วย

 

นับจนถึงเวลานี้ญี่ปุ่นประกาศคว่ำบาตรชาวรัสเซียไปแล้ว 76 คน ธนาคาร 7 แห่ง และองค์กรอื่นๆอีก 12 องค์กรแล้ว

 

ทั้งนี้ญี่ปุ่นยังคงมีหุ้นอยู่ในโครงการลงทุนด้านก๊าซและน้ำมันในเกาะซาฮาลินรัสเซีย หลังจากบริษัทเอ็กซ์ซอน โมบิล และเชลล์ ประกาศถอนตัวออกจากโครงการดังกล่าวลง และยังไม่ชัดเจนว่าการลงทุนของญี่ปุ่นในโครงการดังกล่าวจะดำเนินต่อไปหรือไม่

 

ข้อมูล : มติชน

 

ปูติน ต้องการเจรจากับ เซเลนสกี แบบตัวต่อตัว ยูเครนต้องเป็นกลางและปลดอาวุธ ไม่ให้เป็นภัยต่อรัสเซีย

ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ต่อสายตรง ประธานาธิบดี เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรกีเมื่อวานนี้ (17 มีนาคม) เปิดความต้องการของรัสเซียในข้อตกลงสันติภาพกับยูเครน หลังตุรกีได้ก้าวเข้ามาเป็นตัวกลางสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน
อิบราฮิม คาลิน หัวหน้าที่ปรึกษาและโฆษกประธานาธิบดีตุรกี เปิดเผยว่า การหารือทางโทรศัพท์ดังกล่าวใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมง

 

โดยความต้องการสำคัญประการหนึ่งของปูตินคือ ยูเครนควรเป็นกลางและไม่ควรสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโต 
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ได้ยอมรับในความต้องการของรัสเซียข้อนี้แล้ว

 

ปูตินยังต้องการให้ยูเครนดำเนินการปลดอาวุธ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่รัสเซียว่า ยูเครนจะไม่เป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย และยูเครนจะต้องประณามทุกรูปแบบของนีโอนาซี และให้สัญญาว่าจะปราบนีโอนาซีด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ปูตินระบุต่อผู้นำตุรกีว่า จำเป็นต้องเปิดการเจรจาโดยตรงแบบพบหน้ากัน ระหว่างเขากับผู้นำยูเครน ก่อนที่ข้อตกลงสันติภาพจะบรรลุได้ โดยเฉพาะในประเด็นที่น่าจะบรรลุได้ยาก กล่าวคือ รัสเซียต้องการให้รัฐบาลยูเครนยอมปล่อยมือจากดินแดนในภาคตะวันออกของยูเครน คือภูมิภาคดอนบาส และยอมรับสถานภาพของดอนบาสที่ประกาศอิสรภาพจากยูเครนไปแล้ว รวมไปถึงยอมรับสถานภาพของคาบสมุทรไครเมีย ที่ถูกรัสเซียผนวกดินแดนไปแล้วตั้งแต่ปี 2014 โดยรัสเซียต้องการให้ยูเครนยอมรับไครเมียอย่างเป็นทางการว่า เป็นดินแดนของรัสเซียไปแล้วจริง ๆ

 

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนเคยเรียกร้องขอเปิดเจรจาตัวต่อตัวกับประธานาธิบดีปูตินมาก่อนแล้ว

 

BBC ตั้งข้อสังเกตว่า รายละเอียดในข้อตกลงสันติภาพจะต้องเขียนอย่างระมัดระวังอย่างยิ่ง เนื่องจากต่อไปข้างหน้า หากรัสเซียมองว่า ยูเครนไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ ประธานาธิบดีปูตินหรือผู้นำในอนาคตของรัสเซีย อาจสามารถใช้ข้อตกลงนี้ เป็นข้ออ้างในการบุกยูเครนได้อีกในอนาคต

 

ข้อมูล : TNN World

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

กดเลย >> community แห่งความบันเทิง

ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง