รีเซต

10 สายพันธุไดโนเสาร์ ที่ต้องรู้ ในไดโนปาร์คจังหวัดหนองบัวลำภู

10 สายพันธุไดโนเสาร์ ที่ต้องรู้  ในไดโนปาร์คจังหวัดหนองบัวลำภู
77ข่าวเด็ด
15 สิงหาคม 2563 ( 20:51 )
6.6K
10 สายพันธุไดโนเสาร์ ที่ต้องรู้  ในไดโนปาร์คจังหวัดหนองบัวลำภู

ทำความรู้จักกับ 10 สายพันธุไดโนเสาร์ ที่ต้องรู้ ในไดโนปาร์คจังหวัดหนองบัวลำภู บ้านห้วยเดื่อ ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู

 

 

10 สายพันธุไดโนเสาร์

 

ไดโนปาร์คจังหวัดหนองบัวลำภู   นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยุคไดโนเสาร์เป็นแห่งแรกของประเทศ  ที่ภาครัฐดำเนินการจัดสร้างเป็นสวนสัตว์ไดโนเสาร์  ที่มีสายพัธุ์ต่าง ๆ ขนาดเท่าของจริง  สามารถขยับร่างกาย พร้อมส่งเสียงคำราม  สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้เข้ามาเที่ยวชม  โดยเฉพาะเด็ก ๆ  ที่เห็นแต่ไดโนเสาร์ในจอภาพยนต์หรือจอทีวี  และได้มาสัมผัสกับของจริงที่ยิ่งกว่าจินตนาการ   77ข่าวเด็ด  จึงขอค้นหารายละเอียดไดโนเสาร์แต่ละชนิดมานำเสนอ

 

1. ที-เร็กซ์  ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์

ไทรันโนซอรัส (ชื่อวิทยาศาสตร์: Tyrannosaurus; เสียงอ่านภาษาอังกฤษ: /tɨˌrænɵˈsɔrəs หรือ taɪˌrænɵˈsɔrəs/; แปลว่า กิ้งก่าทรราชย์ มาจากภาษากรีก) เป็นสกุลหนึ่งของไดโนเสาร์ประเภทเทอโรพอด ชนิดเดียวที่เป็นที่รู้จักในสกุลนี้คือ ไทแรนโนซอรัส เรกซ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Tyrannosaurus rex; rex แปลว่า ราชา มาจากภาษาละติน) หรือเรียกอย่างย่อว่า ที. เรกซ์ (T. rex) เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ มีถิ่นอาศัยตลอดทั่วตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกา ซึ่งกว้างกว่าไดโนเสาร์วงศ์เดียวกัน ไทแรนโนซอรัสอาศัยอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนปลายหรือประมาณ 68 ถึง 65 ล้านปีมาแล้ว เป็นหนึ่งในไดโนเสาร์พวกสุดท้ายและทีเร็กซ์เกี่ยวข้องกับนก จำพวกนกนักล่าอย่าง นกอินทรีหรือเหยี่ยว ซึ่งมีชีวิตอยู่ก่อนการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่สามในยุคครีเทเชียส

 

ไทแรนโนซอรัสเป็นสัตว์กินเนื้อ เดินสองขา มีกะโหลกศีรษะที่ใหญ่ และเพื่อสร้างความสมดุลมันจึงมีหางที่มีน้ำหนักมาก มีขาหลังที่ใหญ่และทรงพลัง แต่กลับมีขาหน้าขนาดเล็ก มีสองกรงเล็บ ถึงแม้ว่าจะมีไดโนเสาร์กินเนื้อชนิดอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่าไทแรนโนซอรัส เรกซ์ แต่มันก็มีขนาดใหญ่ที่สุดในไดโนเสาร์วงศ์เดียวกันและเป็นหนึ่งในผู้ล่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนพื้นพิภพ วัดความยาวได้ 12-13 ม.[1] [2]สูง 4.6 ม. จากพื้นถึงสะโพก[3] และมีน้ำหนักถึง16-18 ตัน[4] ในยุคสมัยของไทแรนโนซอรัส เรกซ์ที่ยังมีนักล่าขนาดใหญ่ชนิดอื่นๆนั้น ไทแรนโนซอรัส เรกซ์นั้นเป็นนักล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในทวีปอเมริกาเหนือ เหยื่อของมันเช่น แฮโดรซอร์, เซอราทอปเซีย หรือ ซอโรพอด [5]เป็นต้น ถึงแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าโดยพื้นฐานแล้วไทแรนโนซอรัส เรกซ์เป็นสัตว์กินซาก การถกเถียงในกรณีของไทแรนโนซอรัสว่าเป็นนักล่าหรือสัตว์กินซากนั้นมีมานานมากแล้วในหมู่การโต้แย้งทางบรรพชีวินวิทยา ปัจจุบัน ทีเร็กซ์นั้นสามารถ ล่าเหยื่อตัวเดียว ล่าเป็นฝูงทั้งครอบครัว และกินซาก แน่นอนรวมถึงไดโนเสาร์นักล่าทุกชนิด ที่ล้วนแล้วก็มีโอกาสเป็นนักกินซากได้ทั้งหมด

 

2.สเตโกซอรัส

สเตโกซอรัส (Stegosaurus) สเตโกซอรัส (กิ้งก่ามีหลังคา) เป็นไดโนเสาร์กินพืชจำพวกสะโพกนก (Ornithischia) ที่มีเกราะป้องกันตัวจำพวกแรกๆ

มีลักษณะโดดเด่น มีขาหน้าสั้น และปากเล็ก มีแผ่นเกล็ดเรียงบนหลังยาวไปจนถึงปลายหางแผ่นเกล็ดนี้มีไว้ขู่ศัตรูโดดสูบฉีดเลือดไปที่เกล็ด ซึ่งสันนิษฐานว่ามันมีเส้นเลือดเป็นจำนวนมากในบริเวณนี้ และแผ่นกระดูกนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับป้องกันตัว แต่มีไว้เพื่อช่วยในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย นอกจากนี้มันยังหนามแหลมที่ปลายหาง ซึ่งเอาไว้ป้องกันตัวจากไดโนเสาร์กินเนื้อในยุคนั้นได้ดี อย่าง อัลโลซอรัส รูปร่างดูน่ากลัวแต่สมองมันเล็กกว่าถั่วเขียวและหนักไม่ถึง 70 กรัม ลำตัวยาว 9 เมตรหนัก 2-3 ตันอาศัยอยู่ยุคจูแรสซิก 170-130 ล้านปี

 

 

3.พาราซอโรโลฟัส


พาราซอโรโลฟัส (อังกฤษ: Parasaurolophus) เป็นไดโนเสาร์ที่มีชีวิตอยู่ ในยุคครีเตเชียสตอนปลายพบได้ในทวีปอเมริกาเหนือ เช่น ในรัฐอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา หรือรัฐยูทาห์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ลักษณะเด่นของพาราซอโรโลพัส คือ หงอนที่มีลักษณะเหมือนท่อกลวงยาว บางตัวอาจจะมีหงอนยาวถึง 1.5 เมตร มีไว้ส่งเสียงหาพวก สามารถเดินได้ทั้ง 2 เท้าและ 4 เท้า มีขนาดใหญ่โตพอสมควร เท่าที่ค้นพบไดโนเสาร์พันธุ์นี้จะมีความยาวประมาณ 10 เมตร กินพืชเป็นอาหาร

 

 

4.แองคีโลซอรัส


แองไคโลซอรัส หรือ แองคิโลซอรัส (อังกฤษ: Ankylosaurus) เป็นไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดในสกุล แองคิโลซอร์ (อังกฤษ: ankylosaurid) อาศัยอยู่ในยุคครีเตเชียส ในทวีปอเมริกาเหนือ โครงกระดูกของ แองไคโลซอรัส ที่ค้นพบยังไม่สมบูรณ์ แองไคโลซอรัส เป็นไดโนเสาร์ที่มีลักษณะในแบบสกุล แองคิโลซอร์ที่มีน้ำหนักตัวหนักมีเกราะแข็งหุ้มทั่วทั้งตัวมันอึดมาก และมีลูกตุ้มขนาดใหญ่(ลักษณะคล้ายกับรังผึ้ง)สำหรับไว้ป้องกันตัวจากนักล่าในยุคนั้นอย่าง ไทรันโนซอรัส
นักวิทยาศาสตร์ได้ให้ความยาวของ แองไคโลซอรัส ประมาณ6.25 (20ฟุต) – 9เมตร (30 ฟุต) ความสูงถึงสะโพก1.7 เมตร (5.5 ฟุต) มีน้ำหนักตัว 6 ตัน มีรูปร่างลำตัวที่กว้างมาก ขาหลังยาวกว่าขาหน้า มีกระดูกยื่นออกมาจากร่างกายเป็นเกราะป้องกันตัวชั้นดี กินพืชเป็นอาหาร มีฟันขนาดเล็กไว้สำหรับบดเคี้ยวพืช ปากมีลักษณะคล้ายนกแก้ว หางของแองไคโลซอรัสที่มีลูกตุ้มขนาดใหญ่
ลูกตุ้มขนาดใหญ่ของ แองไคโลซอรัส เป็นส่วนกระดูกที่ยื่นออกมาจากหาง โดยมีกระดูกสันหลังส่วนบริเวณหางข้อที่เจ็ดรองรับน้ำหนักทั้งหมด มีเส้นเอ็นหนาติดกับกระดูกสันหลังส่วนหาง เส้นเอ็นเหล่านี้คล้ายกับกระดูกและไม่ยืดหยุ่นมากให้กำลังได้ดีที่จะส่งไปถึงปลายหาง จากการศึกษาพบว่าลูกบิดหางขนาดใหญ่ ของมันส่งผมกระทบร้ายแรงต่อกระดูกของไดโนเสาร์กินเนื้อที่จู่โจมมันอย่างนักล่าขนาดใหญ่เช่น ไทรันโนซอรัส ให้กระดูกหักได้ ทราบว่าหางที่ใช้ในการป้องกัน ต่อสู้

 

5.เทอราโนดอน หรือ นก


เทอราโนดอน (อังกฤษ: Pteranodon, มาจากภาษากรีก πτερόν pteron “ปีก” และ ἀνόδων anodon ว่า “เขี้ยวกุด”) เป็นสกุลหนึ่งของเทอโรซอร์ ซึ่งรวมถึงสัตว์เลื้อยคลานที่บินได้ที่รู้จักกันส่วนใหญ่ ขนาดของปีกยาวมากกว่า 6 เมตร (20 ฟุต). พวกมันอาศัยอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนปลายในรัฐแคนซัส, อะลาบามา, เนบราสก้า, ไวโอมิง และเซาว์ดาโกตาในช่วงปัจจุบัน มีฟอสซิลทิแรโนดอนมากกว่าเทอโรซอร์ชนิดอื่น โดยประมาณ 1,200 ตัวอย่างรู้จักในแวดวงวิทยาศาสตร์ ส่วนใหญ่มักจะพบในสภาพกะโหลก และโครงกระดูกข้อต่อที่สมบูรณ์ นั่นเป็นส่วนที่สำคัญมากในกลุ่มของสัตว์ใน Western Interior Seaway


ทิแรโนดอน เป็นเทอโรซอร์ ไม่ใช่ไดโนเสาร์ โดยนิยามไดโนเสาร์แบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ ซอริเซีย และ ออร์นิสทิเซียบางครั้ง อาจจะรวมเทอโรซอร์ด้วย ยังไงก็ตาม ทิแรโนดอนมักจะพบในสื่อบ่อยครั้ง และอาจเกี่ยวข้องกับไดโนเสาร์ได้โดยทั่วไป

 

6.แกลลิมิมัส


แกลลิไมมัส หรือ แกลลิมิมัส (อังกฤษ: Gallimimus,[/ˌɡælɪˈmaɪməs/ GAL-i-MY-məs]) เป็นไดโนเสาร์ เทโรพอด [1]ที่อาศัยอยู่ในช่วงปลายยุคครีเทเชียสช่วง 70-74 ล้านปีก่อน ฟอสซิลถูกค้นพบในประเทศมองโกเลีย ทวีปเอเชีย ชื่อของ แกลลิไมมัส มีความหมายว่าไก่จำแลง เนื่องจากเป็นไดโนเสาร์ที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายนกกระจอกเทศ มีคอยาว เบ้าตาใหญ่ หางยาว หัวเล็ก ขากรรไกรยาว ไม่มีฟัน ขาหน้าค่อนข้างยาวและแข็งแรง มือมี 3 นิ้ว สันนิษฐานว่ามีขนคล้ายนก เมื่อโตเต็มวัยมีความยาวโดยประมาณ 6 เมตร สูง 1.9 เมตร น้ำหนัก 200-440 กิโลกรัม สามารถวิ่งได้เร็ว 42–56 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


เครือญาติ แกลลิไมมัสเป็นญาติกับออร์นิโทไมมัส ไดโนเสาร์ที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่ถูกพบคนละที่ โดยออร์นิโทไมมัสถูกพบที่ทวีปอเมริกาเหนือ ส่วนแกลลิไมมัสถูกพบที่ทวีปเอเชีย คาดว่าแกลลิไมมัสมีญาติอยู่ที่ประเทศไทยคือ กินรีไมมัส

 

7.โอวิแรปเตอร์

โอวิแรปเตอร์(อังกฤษ: Oviraptor)มีหงอนเป็นเอกลักษณ์ ยาว 2 เมตร ส่วนสูงประมาณหัวเข่าของผู้ใหญ่ที่โตเต็มไวแล้ว พบที่มองโกเลีย มีการค้นพบฟอสซิลของมันอยู่กับลูกในรังของมัน ในท่ากกไข่ หลายชุด เป็นหลักฐานที่ระบุว่ามันเป็นไดโนเสาร์ที่เลี้ยงลูกของมันอย่างดี ฟอสซิลในท่ากกไข่ของโอวิแรปเตอร์ ตัวนั้นอาจตายตอนมีพายุทรายพัดมา พบในชั้นหินของยุคครีเทเซียส ช่วงเวลา 90-85 ล้านปี

 

8.ไทรเซอราทอปส์


ไทรเซราทอปส์ (อังกฤษ: triceratops) เป็นไดโนเสาร์ที่มีชีวิตอยู่ในปลายยุคครีเทเชียสราว 68-65ล้านปีมันเป็น1ในไดโนเสาร์ชนิดสุดท้าย ไทรเซราทอปส์เป็นไดโนเสาร์ขนาดใหญ่หนักราว 6-8ตันและยาวได้กว่า 6-10เมตรโดยทั่วไปแล้วไทรเซราทอปส์จะกินเฟิร์น สนซึ่งเป็นพืชเนื้อหยาบมันมีจะงอยปากคล้ายนกแก้วไว้ตัดพืช และมันจะกลืนหินไปในกระเพาะเพื่อบดอาหารหินนี้เรียกว่า แกสโตรลิท ไทรเซราทอปส์มีวิถีชีวิตคล้ายแรดอยู่รวมเป็นฝูงเล็มอาหารเมื่อถูกคุกคามจากนักล่า เช่น ไทรันโนซอรัส จะหันหน้าเป็นวงกลมให้ตัวอ่อนแอและเด็กอยู่ในวงล้อม หากศัตรูเข้ามาทางใดจะพุ่งชนด้วยแรงชนกว่า6ตัน ไทรเซราทอปส์มีเขา3เขาอยู่บนหัวเขาแรกยาว20เซนติเมตรอยู่เหนือจมูก ส่วน2เขาหลังอยู่ที่ตายาวราว1เมตรแทงเพียงครั้งเดียวอาจถึงตาย บางตัวเขาอาจยาวกว่า2เมตร แต่ด้วยพละกำลังและขนาดเป็น2เท่าของช้างนักล่าส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยโจมตีมัน แต่มันมีจุดอ่อนที่แผงคอทำให้มันมองหลังไม่ดีแต่หากโจมตีข้างหน้าสถานการจะกลับกัน ไทรเซราทอปส์กินค่อนข้างมากเฉลี่ยถึง500กิโลกรัม มันมีชื่อเสียงพอๆกับที-เร็กซ์และมักเห็นภาพมันเข้าปะทะกับที-เร็กซ์ทำให้เจ้า3เขาตัวนี้ได้คำขนานนามว่า คู่ปรับแห่งราชาไดโนเสาร์ นอกจากนี้มันยังเป็นพระเอกในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องไดโนคิง (DINOSAUR KING) อีกด้วย ไทรเซราทอปส์มีชื่อเต็มว่าไทรเอราทอปส์ ฮอริดัส ฟอสซิลของไทรเซราทอปส์ตัวแรกพบโดยมารช์ คู่แข็งของโคป ในสงครามกระดูกไดโนเสาร์


ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ได้สันนิฐานว่า ไทรเซราทอปส์ น่าจะใช้เขาขวิดศัตรูแบบวัวกระทิง เนื่องจากกะโหลกของมันบาง หากใช้วิธีพุ่งชนแบบแรดอาจจะทำให้กะโหลกของมันแตกได้

 

9.แบรคีโอซอรัส

แบรคิโอซอรัส บราชิโอซอรัส ก็เรียกได้ (อังกฤษ: Brachiosaurus) หรือ คอยาว เป็นซอโรพอดขนาดใหญ่ ลำตัวยาว 30 เมตร สูง 13-15 เมตร หนัก 78 ตันหรือเท่ากับช้างแอฟริกา 15 เชือก อาศัยอยู่ในยุคจูแรสซิก 200-130 ล้านปีก่อน ขุดค้นพบในอเมริกาเหนือและแอฟริกา เคยเป็นซอโรพอดที่ตัวใหญ่ที่สุดก่อนค้นพบซุปเปอร์ซอรัส อาร์เจนติโนซอรัส และ ซูเปอร์ซอรัส

ลักษณะเด่นของแบรคิโอซอรัสที่ต่างจากซอโรพอดอื่นคือ บริเวณจมูกบนกระหม่อมมีโหนกยื่นขึ้นมาชัดเจนกว่าคามาราซอรัสหรือซอโรพอดอื่น หางสั้นไม่มีปลายแส้ มีขาหน้าที่ยาวกว่าขาหลัง ทำให้ตัวลาดลงแบบยีราฟ ส่งผลให้ส่วนคอของแบรคิโอซอรัสตั้งชันสูงกว่า ทำให้มันสามารถหาใบไม้บนยอดสูงได้ดีกว่าพวกอื่น และมีประโยชน์ในการมองเห็นไดโนเสาร์กินเนื้อแต่ไกล

แบรคิโอซอรัสป็นที่รู้จักมากจากการปรากฏตัวในภาพยนตร์เรื่อง “จูราสสิค พาร์ค กำเนิดใหม่ไดโนเสาร์” แต่มีข้อวิพากษ์ถึงท่าทางในภาพยนตร์ที่มันยืน 2 ขาเพื่อยืดตัวกินยอดใบไม้ ด้วยสาเหตุที่ส่วนคอของมันตั้งสูงเหมาะกับการกินอาหารบนยอดไม้อยู่แล้ว ส่วนขาหลัง 2 ข้างของมันยังสั้นและเล็ก และสรีระทางสะโพกก็น้อย นอกจากนี้มันไม่มีท่อนหางยาวสำหรับคานน้ำหนักเหมือนซอโรพอดวงศ์ดิปพลอโดซิเด จึงไม่น่าจะแบกรับน้ำหนักของร่างกายช่วงบนเวลาที่มัน “ยืน” ไหว ดังนั้นภาพที่เห็นมันยืน 2 ขาในหนังก็ไม่น่าจะจริง

 

 

10.สไปโนซอรัส

สไปโนซอรัส (อังกฤษ: Spinosaurus) มีความหมายว่าสัตว์เลื้อยคลานมีกระโดง ถูกค้นพบครั้งแรกในทะเลทรายซาฮาร่าของอียิปต์ เมื่อปี ค.ศ. 1910 โดยนักบรรพชีวินวิทยาชาวบาวาเรีย นาม เอิร์ล สโตรเมอร์ โดยขุดค้นไปตามชายขอบด้านตะวันออกของระบบแม่น้ำโบราณซึ่งมีหินในชั้นแคมเบรียนก่อตัวเป็นพรมแดนด้านตะวันตก สไปโนซอรัสเป็นสัตว์กินเนื้อที่เดิน 2 ขาเป็นหลัก ส่วนอาหารนั้นส่วนมากจะเป็นปลา มีจุดเด่น คือกระดูกสันหลังสูงเป็นแผ่นคล้ายใบเรือ รูปครึ่งวงรี มี11ชิ้น ชิ้นที่ยาวที่สุดมีความยาว 1.69 เมตร เนื่องจากถูกค้นพบฟอสซิลในอียิปต์จึงได้สันนิษฐานเช่นนั้น กะโหลกมีจงอยปากแคบที่เต็มไปด้วยฟันรูปกรวย มีหงอนคู่ขนาดเล็กอยู่เหนือดวงตา แขนแข็งแกร่งมี 3นิ้ว สามารถใช้เป็นอาวุธและจับเหยื่อได้ มีความสูงจากพื้นถึงสะโพกที่ 3 เมตร ความยาวตั้งแต่ปลายจมูกจรดปลายหางประมาณ 15 เมตร ค้นพบฟอสซิล ที่สมบูรณ์ที่สุดยาว 15เมตร (ส่วนกะโหลก ยาว 1.75 ม.) น้ำหนัก 6-10 ตัน

 

อาศัยอยู่ใน ทวีปแอฟริกา มีชีวิตอยู่ในตอนกลางของยุคครีเตเชียส (100-97 ล้านปีที่แล้ว) ในช่วงที่มันอาศัยอยู่ในยุคครีเตเชียสตอนกลางมีไดโนเสาร์คาร์คาโรดอนโทซอริดส์ขนาดใหญ่ คือ คาร์คาโรดอนโทซอรัส ได้อาศัยอยู่ร่วมระบบนิเวศเดียวกันที่มีความยาวประมาณ 13 เมตร และเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่คู่แข่งของสไปโนซอรัสและไดโนเสาร์กินเนื้อสกุลอื่นแต่อย่างใด สไปโนซอรัสเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ1ในโลก , มันมีญาติอย่าง ซูโคไมมัส บารีออนนิกซ์ ขนาดของสไปโนซอรัสเมื่อเทียบกันไดโนเสาร์กินเนื้ออื่น(สีแดง)

 

ในปี ค.ศ.2014 นิซาร์ อิบราฮิมและ พอล เซเรโนได้เสนอทฤษฎีที่กล่าวว่า สไปโนซอรัสเป็นไดโนเสาร์ที่หากินอยู่ในน้ำเป็นหลัก โดยมีอาหารหลัก คือ ปลาและสัตว์น้ำ ด้วยรูจมูกซึ่งตั้งอยู่บนกะโหลกค่อนมาทางดวงตาช่วยให้หายใจได้แม้ส่วนใหญ่ของหัวจะจมลงในน้ำ และลำตัวทรงกระบอกที่คล้ายโลมาและวาฬ ส่วนความหนาแน่นของซี่โครงและกระดูกที่แขนก็คล้ายคลึงกับกระดูกของพะยูน ขาหลังที่สั้นและน่าจะเหมาะกับการว่ายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มีกรงเล็บเท้าแบน ๆ ในเท้าหลังที่กว้างมีพังผืดเชื่อมต่อกันเหมือนตีนเป็ด อีกทั้งยังมีขากรรไกรเรียวยาวและฟันรูปกรวยคล้ายกับฟันของจระเข้น่าจะใช้จับปลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหลุมตรงปลายจมูกซึ่งปัจจุบันยังปรากฏให้เห็นในสัตว์จำพวกจระเข้และอัลลิเกเตอร์ อาจมีตัวรับความดันสำหรับตรวจจับอาหารในน้ำขุ่น โดยเชื่อว่า เมื่อล่าเหยื่อ สไปโนซอรัสจะโน้มตัวไปข้างหน้าแล้วงับปลาด้วยปากที่ยาว และเชื่อว่าสไปโนซอรัสใช้เวลาว่ายน้ำหาอาหารมากถึงร้อยละ 80 ต่อวัน [2]
หลังจากมีการค้นพบขาหลังของสไปโนซอรัสในปี 2014 ก็พบว่าขาหลังของสไปโนซอรัสนั้นสั้น ยืน2ขาได้ลำบาก ต่างจากในภาพยนตร์จูราสสิค พาร์ค 3ได้ และยังมีการพบว่าเท้านั้นเป็นผังผืดเหมือนตีนเป็ด ซึ่งไม่เหมาะที่จะวิ่งไล่จับเหยือบนบกได้ ดังนั้นจึงคาดว่าน่าจะมีไว้ใช้ในการว่ายน้ำมากกว่า

กระโดงบนหลังของสไปโนซอรัส เดิมทีแล้วนักบรรพชีวินวิทยาได้สันนิฐานว่า น่าจะใช้ในการปรับอุณหภูมิของร่างกาย และใช้ในการทรงตัว จึงทำให้มันเป็นสัตว์ที่ตื่นตัวมาก แต่ในปี 2014 นิซาร์ อิบราฮัม และนักวิทยาศาสตร์ ได้ศึกษากระโดงอย่างละเอียดแล้วว่า กระโดงนั้นมีปริมาณหลอดเลือดน้อยมากจึงไม่สามารถใช้ในการปรับอุณหภูมิ จึงได้สันนิฐานใหม่ว่า กระโดงน่าจะใช้ในการดึงดูดเพศตรงข้ามหรือไม่ก็ใช้ในการข่มขวัญพวกเดียวกันเองหรือไดโนเสาร์นักล่าสายพันธุ์อื่นๆ และได้มีการย้ายชิ้นส่วนกระโดงที่ยาวสุดไปไว้ช่วงท้าย เพื่อให้หางเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระมากขึ้นซึ่งเป็นประโยชน์ในการว่ายน้ำ

 

 

สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลไดโนเสาร์แต่ละตัวที่จัดแสดง  ก็จะมีป้ายชื่อ  ข้อมูลพอสังเขบ  และสามารถสแกนคิวอาร์โค้ด  เพื่ออ่านข้อมูลของไดโนเสาร์แต่ละชนิดได้  ทั้งนี้ท่านที่สนใจจะเข้าไปชม  ไดโนปาร์คจังหวัดหนองบัวลำภู  ตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์หอยหินและไดโนเสาร์ 150 ล้านปี   บ้านห้วยเดื่อ  ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู  โดยไดโนปาร์คแห่งนี้เปิดให้บริการตั้งแต่วันอังคาร-วันอาทิตย์ หยุดวันจันทร์  เว้นวันจันทร์ที่เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์  โดยเสียค่าเข้าชม เด็ก 10 บาท ผู้ใหญ่ 20 บาท  ส่วนชาวต่างชาติ 50 บาท  และมีการตรวจคัดกรองป้องกันโควิด-19 ด้วย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง