รีเซต

พบต้นกำเนิดของลมสุริยะความเร็วสูงจากดวงอาทิตย์ โดยยานสำรวจ Parket Solar

พบต้นกำเนิดของลมสุริยะความเร็วสูงจากดวงอาทิตย์ โดยยานสำรวจ Parket Solar
TNN ช่อง16
9 มิถุนายน 2566 ( 16:03 )
92
พบต้นกำเนิดของลมสุริยะความเร็วสูงจากดวงอาทิตย์ โดยยานสำรวจ Parket Solar

วันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ยานสำรวจดวงอาทิตย์พาร์เกอร์โซลาร์ (Parker Solar) ขององค์การนาซาได้ค้นพบต้นกำเนิดของลมสุริยะความเร็วสูง (Fast solar wind) รวมไปถึงต้นกำเนิดของหลุมโคโรนา (Coronal Holes) ในชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ 


การค้นพบในครั้งนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำนายการเกิดลมสุริยะปกติ (Solar wind) และลมสุริยะความเร็วสูง (Fast solar wind) ได้แม่นยำมากขึ้น ซึ่งลมสุริยะจากดวงอาทิตย์ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างคาดไม่ถึง เช่น การเกิดแสงเหนือ สร้างการรบกวนการสื่อสาร รบกวนการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้า ทำลายวงจรของดาวเทียม ยานอวกาศ รวมไปถึงอันตรายกับนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศ


ข้อมูลใหม่จากยานสำรวจดวงอาทิตย์พาร์เกอร์โซลาร์ (Parker Solar) พบว่ากระแสของลมสุริยะความเร็วสูง (Fast solar wind) ประกอบด้วยอนุภาคที่มีประจุไหลออกมาอย่างต่อเนื่องด้วยความเร็วเพียงพอที่จะหลุดพ้นจากแรงดึงดูดของอาทิตย์ มองเห็นได้เหนือขั้วของดวงอาทิตย์ โดยคาดว่ามันสามารถทำความเร็วได้มากถึง 2.7 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง เร็วกว่าความเร็วสูงสุดของเครื่องบินไอพ่น 1,000 เท่า


นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบต้นกำเนิดของหลุมโคโรนา (Coronal Holes) มักถูกพบบริเวณขั้วของดวงอาทิตย์ในทุก ๆ 11 ปี และเป็นแหล่งกำเนิดของลมสุริยะความเร็วสูง (Fast solar wind) ที่ถูกปล่อยออกมาจากบริเวณดังกล่าวมักพุ่งออกไปด้วยความเร็วสูงและไม่ย้อนกลับไปหาดวงอาทิตย์อีก รวมไปถึงไม่มีทิศทางพุ่งไปหาโลก 


แต่ถึงอย่างไร ลมสุริยะความเร็วสูงก็มีโอกาสที่จะพุ่งมายังโลกได้เช่นกัน หากดวงอาทิตย์มีการเคลื่อนไหวและสนามแม่เหล็กเกิดการหมุนสลับขั้ว ดังนั้นการทำความเข้าใจลมสุริยะความเร็วสูง (Fast solar wind) จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก


นักวิทยาศาตร์เปรียบเทียบหลุมโคโรนา (Coronal Holes) ให้เห็นภาพเข้าใจง่าย ๆ ว่าคล้ายกับฝักบัวพ่นน้ำออกมาอย่างรุนแรงในระยะเท่า ๆ กัน โดยคาดว่ามันจะมีความกว้างประมาณ 29,000 กิโลเมตร ความเร็วเฉลี่ยของลมสุริยะความเร็วสูง (Fast solar wind) มากกว่าความเร็วของลมสุริยะปกติ (Solar wind) จากบริเวณอื่น ๆ ประมาณ 10 เท่า 


ผลการค้นพบในครั้งเป็นเพียงการค้นพบเบื้องต้นเท่านั้น ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังคงศึกษาข้อมูลที่ยานสำรวจดวงอาทิตย์พาร์เกอร์โซลาร์ (Parker Solar) ส่งกลับมายังโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจลมสุริยะความเร็วสูง (Fast solar wind) และสนามแม่เหล็กภายในหลุมโคโรนา (Coronal Holes) ความเกี่ยวข้องกันของสนามแม่เหล็กและพลังงานความร้อนที่ถูกปล่อยออกมาอย่างรุนแรง


สำหรับยานสำรวจดวงอาทิตย์พาร์เกอร์โซลาร์ (Parker Solar) ถูกพัฒนาขึ้นโดยห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) ยานออกเดินทางขึ้นจากโลกในวันที่ 12 สิงหาคม 2018 มีกำหนดการทำภารกิจนาน 7 ปี ตามแผนการที่วางเอาไว้ เป้าหมายการทำภารกิจ คือ สำรวจดวงอาทิตย์ สนามแม่เหล็ก ชั้นบรรยากาศโคโรนาและเฮลิโอสเฟียร์ ปัจจุบันยานทำภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์มาแล้วนาน 4 ปี 9 เดือน 




ที่มาของข้อมูล Space 

ที่มาของรูปภาพ NASA/Johns Hopkins APL/Steve Gribben

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง