รีเซต

รู้ไว้ก่อนดู “Oppenheimer” เรื่องจริงจากผู้สร้างระเบิดนิวเคลียร์คนแรกของโลก

รู้ไว้ก่อนดู “Oppenheimer” เรื่องจริงจากผู้สร้างระเบิดนิวเคลียร์คนแรกของโลก
TNN ช่อง16
20 กรกฎาคม 2566 ( 16:37 )
234

คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) หยิบยกประวัติของเจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) ผู้สร้างระเบิดนิวเคลียร์คนแรกของโลก มาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อออปเพนไฮเมอร์ (Oppenheimer) โดยมีคิลเลียน เมอร์ฟี (Cillian Murphy) มาแสดงเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์


ยุครุ่งเรืองของ J. Robert Oppenheimer

ออปเพนไฮเมอร์เริ่มมีชื่อเสียงจากการเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีที่เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ควอนตัม (Quantum Physics) และฟิสิกส์ทฤษฎี รวมถึงยังเป็นเพื่อนกับนักวิทยาศาสตร์แห่งยุคอย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ด้วย 


ในปี 1942 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ออปเพนไฮเมอร์ถูกทาบทามให้มาร่วมงานในโครงการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์เพื่อหยุดยั้งสงคราม ซึ่งเรียกว่าโครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) และรับตำแหน่งผู้อำนวยการที่ห้องทดลองลอส อะลามอส (Los Alamos Laboratory) เพื่อพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกขึ้นมา


ในวันที่ 16 กรกฎาคม 1945 เขาและทีมงานได้ทำการทดลองระเบิดที่เรียกว่าการทดลองทรินิตี้ (Trinity Test) ที่เมืองจำลองในพื้นที่โครงการและประสบความสำเร็จ ซึ่งทำให้เขาได้รับฉายาในภายหลังว่าบิดาแห่งระเบิดอะตอม (Father of the atomic bomb)


ยุคตกต่ำของ J. Robert Oppenheimer

อย่างไรก็ตาม การเร่งพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์จนทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิม่ากับนางาซิกิที่ญี่ปุ่นในปีเดียวกันแม้ว่าจะกลายเป็นการหยุดสงคราม แต่ทำให้มุมมองต่อระเบิดนิวเคลียร์ของเขาเปลี่ยนไป และหันมาต่อต้านการพัฒนาระเบิดไฮโดรเจนที่มีพื้นฐานมาจากงานที่เขาทำแทน


นอกจากนี้ การสร้างระเบิดนิวเคลียร์ยังผลักดันให้โลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต (รัสเซียในปัจจุบัน) ซึ่งเขามีมุมมองค่อนข้างโน้มเอียงไปทางเห็นอกเห็นใจสภาพของโซเวียต อีกทั้งภรรยาของเขายังเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ของสหรัฐอเมริกา ทำให้เขาถูกหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาลกลางอย่างเอฟบีไอ (FBI) และซีไอเอ (CIA) จับตาดูอย่างใกล้ชิดถึงขั้นดักฟังโทรศัพท์ของเขาด้วย


สถานการณ์ยังเลวร้ายมากขึ้น เมื่อเขายอมรับว่าเคยมีสายลับโซเวียตที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาล้วงข้อมูลโครงการ แม้ว่าเขาจะไม่ได้ให้ข้อมูล แต่ก็ทำให้ถูกมองว่าเป็นศัตรูของชาติ และถูกเพิกถอนสิทธิในโครงการลับของประเทศทั้งหมดในปี 1954


มหากาพย์ชีวิตของ J. Robert Oppenheimer

แม้ว่าชีวิตการงานกับรัฐบาลของเขาต้องจบลง แต่ตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการศึกษาขั้นสูง (Institute for Advanced Study: IAS) ไม่ได้ถูกถอดถอน ทำให้เขายังคงเดินหน้าให้ความรู้แก่สาธารณะแม้ว่าจะถูกอัปเปหิจากวงการวิชาการ รวมถึงผลักดันให้มีการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสันติตลอดชีวิตของเขา


และในเวลาต่อมา ปลายยุคสงครามเย็น ผู้คนได้ก้าวข้ามความกลัวต่อคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้มุมมองของสาธารณะต่อเขาก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยจอห์น เอฟ เคเนดี้ (John F. Kenedy) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่มีบทบาทสำคัญ ได้ตัดสินใจมอบรางวัลเอ็นริโก เฟอร์มี (Enrico Fermi Award) รางวัลสูงสุดของนักวิทยาศาสตร์จากฝั่งประธานาธิบดีให้กับเขาในปี 1963 


เรื่องราวเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งจากหนังสือชีวประวัติ อเมริกัน โพรมีเทียส: ชัยชนะและโศกนาฏกรรมของเจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (American Prometheus: Triumph And Tragedy Of J. Robert Oppenheimer, โพรมีเทียสเป็นภาษากรีกแปลว่ามองการณ์ไกล) แหล่งอ้างอิงบทภาพยนตร์ของคริสโตเฟอร์ โนแลน ซึ่งบันทึกในระบบฟิล์มขนาด 70 มิลลิเมตร ตลอดเวลา 3 ชั่วโมง ได้ความยาว 17 กิโลเมตร และหนักถึง 272 กิโลกรัม



ที่มาข้อมูล New York TimesWikipedia

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง