รีเซต

สหรัฐฯถูกซัดไม่หยุด “ทอร์นาโด” เกิดถี่ผิดปกติ เกิดอะไรขึ้นกับอากาศโลก?

สหรัฐฯถูกซัดไม่หยุด “ทอร์นาโด” เกิดถี่ผิดปกติ  เกิดอะไรขึ้นกับอากาศโลก?
TNN ช่อง16
21 เมษายน 2568 ( 11:00 )
11

แม้ฤดูพายุฝนฟ้าคะนองในสหรัฐฯ ยังไม่ถึงช่วงพีค แต่หลายพื้นที่กลับต้องเผชิญพายุรุนแรงและทอร์นาโดต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2025 อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สภาพอากาศสุดขั้วนี้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง พร้อมคร่าชีวิตประชาชนไปแล้วหลายสิบราย

ด้านนักอุตุนิยมวิทยาชี้ว่า หนึ่งในตัวแปรสำคัญที่อยู่เบื้องหลัง คือ ความร้อนผิดปกติจาก “อ่าวเม็กซิโก” หรือที่รัฐบาลสหรัฐฯ เรียกกันใหม่ว่า “Gulf of America” ซึ่งเป็นแหล่งอากาศอุ่นชื้นที่สำคัญของภูมิภาค

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า สูตรลับสภาพอากาศสุดขั้วนั้นได้แก่ ความชื้น + ความร้อน + ลมเย็นจากแคนาดา ซึ่งสหรัฐฯ ถือเป็นจุดรวมของปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการเกิดพายุรุนแรงระดับโลก โดยเฉพาะพื้นที่จากที่ราบภาคกลางไปจนถึงฝั่งตะวันตกของเทือกเขาแอพพาเลเชียน ดังนั้น เมื่ออากาศร้อนชื้นจากอ่าวเม็กซิโกเคลื่อนตัวขึ้นเหนือมาบรรจบกับมวลอากาศเย็นจากแคนาดา ก็จะเกิดพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง หากมีแนวปะทะเย็น (cold front) เข้ามากระตุ้น ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดพายุทอร์นาโดได้ง่ายขึ้น

และในปีนี้ อุณหภูมิผิวน้ำในอ่าวเม็กซิโกยังคงสูงกว่าค่าปกติอย่างต่อเนื่อง หลังทำสถิติร้อนจัดในบางพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2023 และ 2024 ส่งผลให้เกิดการระเหยของน้ำมากขึ้น ทำให้อากาศชื้นเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีสำหรับพายุ

3 สัปดาห์นรก: ทอร์นาโดกว่า 300 ลูก คร่าชีวิตกว่า 70 ราย

    กลางเดือนมีนาคม: เกิดพายุทอร์นาโดกว่า 100 ลูก ลูกเห็บขนาดเบสบอล และลมแรงระดับเฮอริเคนพัดถล่มหลายรัฐ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 42 ราย

    ปลายเดือนมีนาคม: เกิดทอร์นาโดเพิ่มอีกกว่า 50 ลูก เสียชีวิตอีกอย่างน้อย 7 ราย

    ต้นเดือนเมษายน: ทอร์นาโดระลอกใหม่กว่า 130 ลูก คร่าชีวิตอีก 26 ราย พร้อมฝนตกหนักจนน้ำท่วมประวัติศาสตร์ในลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปีและโอไฮโอ

ตลอดช่วง 12 วันตั้งแต่ 27 มีนาคมถึง 7 เมษายน มีรายงานทอร์นาโดในสหรัฐฯ ติดต่อกันทุกวัน รวมกว่า 225 ครั้ง คิดเป็นเกือบครึ่งของจำนวนทอร์นาโดทั้งหมดตั้งแต่ต้นปี นอกจากนี้ ยังมีรายงานลมกระโชกแรงกว่า 3,200 ครั้ง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยช่วงเวลาเดียวกันมากกว่าสองเท่า


แม้จำนวนทอร์นาโดต่อปีโดยรวม (ไม่นับระดับอ่อน) จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักนับตั้งแต่ปี 1950 แต่ลักษณะการเกิดกลับเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะจากการศึกษาในปี 2016 พบว่า ทอร์นาโดในสหรัฐฯ มักเกิดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ มากกว่าจะกระจายเป็นจุดเล็กๆ เช่นในอดีต และเหตุการณ์ที่รุนแรงสุดกำลังเกิดถี่ขึ้น นอกจากนั้น พื้นที่เกิดพายุทอร์นาโดก็กำลังเปลี่ยนไปเช่นกัน โดยเฉพาะในภาคใต้และมิดเวสต์ตอนล่าง ซึ่งมีแนวโน้มจะเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้วมากขึ้นในโลกที่ร้อนขึ้น

ปี 2025 มีรายงานทอร์นาโดเกือบ 500 ครั้งแล้วในช่วงต้นปี มากกว่าค่าเฉลี่ยที่มักจะอยู่ราว 300 ครั้งในช่วงเดียวกัน แต่ปี 2023 ก็มีลักษณะคล้ายกัน โดยเริ่มปีด้วยพายุถี่ผิดปกติ ก่อนจะรุนแรงเต็มที่ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม และปิดท้ายด้วยจำนวนทอร์นาโดสูงเป็นอันดับสองในรอบ 15 ปี

สำหรับปีนี้ แม้เดือนเมษายนกำลังจะผ่านไป แต่แบบจำลองพยากรณ์ระยะกลางก็เริ่มส่งสัญญาณว่า อาจมีพายุรุนแรงระลอกใหม่จ่อถล่มพื้นที่ตอนกลางของสหรัฐฯ อีกครั้งก่อนหมดเดือนเมษายน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง