รีเซต

ช้อป “เสื้อผ้ามือสอง” ผ่านแอปฯ ลดขยะแฟชัน จาก Hangles | TNN Tech Reports

ช้อป “เสื้อผ้ามือสอง” ผ่านแอปฯ ลดขยะแฟชัน จาก Hangles | TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
7 กรกฎาคม 2567 ( 16:00 )
24



อุตสาหกรรมแฟชัน ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตขึ้นทุกปี โดยข้อมูลจาก สแตสทิสต้า  (Stastista) บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก ระบุว่า ในปี 2022 อุตสาหกรรมแฟชัน มีมูลค่าตลาดทั่วโลกมากกว่า 1.06 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.84 ล้านล้านบาท และจะเติบโตต่อเนื่องไปถึง 1.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.7 ล้านล้านบาท ในปี 2027 


ท่ามกลางการเติบโตของอุตสาหกรรมแฟชัน มีหนี่งปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟาสต์แฟชัน หรือเสื้อผ้าที่ผลิตในจำนวนมาก ต้นทุนต่ำ ซื้อง่าย และมีการใช้งานในระยะเวลาอันสั้น จนกลายเป็นขยะอย่างรวดเร็ว 


ซึ่งกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชันนั้น ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนหลายล้านตันต่อปี ในขณะที่การกำจัดขยะเสื้อผ้าด้วยการฝังกลบนั้นต้องใช้เวลานานนับร้อยปี เนื่องจากมีสารเคมีต่าง ๆ ที่เป็นวัสดุในการผลิตเส้นใย


จึงเป็นที่มาของแอปพลิเคชัน Hangles แอปฯ ที่เกิดมาเพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อมและทำให้เสื้อผ้ามือสองเข้าถึงได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ซึ่งพัฒนาโดย เพ็ญพิชชา สันตินธรกุล, เจ้าของธุรกิจส่งต่อเสื้อผ้ามือสอง Hangles 


“อุตสาหกรรมแฟชั่น ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 10% ของโลก มีเสื้อผ้ามากกว่า 92 ล้านตันทั่วโลกที่ถูกทิ้งลงในกองขยะ ซึ่งทั้งหมดเกิดโดยนักช้อป ส่วนฝั่งแบรนด์ก็เป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าที่เป็น Dead Stock หรือเสื้อผ้าที่ผลิตมาแล้วไม่มีวางจำหน่าย มากกว่า 30% หรือประมาณ 30,000 ล้านชิ้นต่อปี ในส่วนนั้นมันจะกลายเป็นขยะ 


ถ้าเราไม่จัดการมันดี ๆ มันจะทำลายทั้งสภาพอากาศ การใช้น้ำ อย่างเช่น การผลิตเสื้อคอตตอน 1 ตัว ต้องใช้น้ำมากถึง 2,700 ลิตร ซึ่งเทียบเท่ากับน้ำที่คนหนึ่งคนสามารถดื่มได้ตั้ง 3 ปี แล้วเราดันเอาไปทิ้ง เพราะเราใช้มันอย่างไม่คุ้มค่า”


แอปพลิเคชัน “Hangles” 


เพื่อหยุดยั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดการใช้ทรัพยากร จึงมีสตาร์ตอัปไทยรายหนึ่ง ที่พยายามผลักดันและสนับสนุนการใช้งานเสื้อผ้ามือสอง ให้ผู้คนนำเสื้อผ้ามาหมุนเวียน ใช้ซ้ำ และลดการทิ้งเสื้อผ้า ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “Hangles” ซึ่งมีความหมายมาจากคำว่า hanger ที่แปลว่าไม้แขวนผ้า รวมเข้ากับคำว่า cycle ที่แปลว่าหมุน กลายเป็นแอปฯ Hangles ที่จะนำเสื้อผ้าที่แขวนอยู่ในตู้ กลับมาหมุนเวียนอีกครั้ง


แนวคิดของการสร้างแอปพลิเคชัน Hangles เกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรงของผู้ก่อตั้งทั้ง 2 คน ที่ประสบปัญหาเสื้อผ้าล้นตู้ จนต้องหาพื้นที่จำหน่ายเสื้อผ้าของตัวเอง บวกกับความต้องการจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเสื้อผ้ามือสอง ที่คนไทยบางส่วนอาจจะมองว่าเป็นเสื้อผ้าที่ไม่ดี ไม่สะอาด ไม่ควรใส่ซ้ำใคร ให้กลายมาเป็นเสื้อผ้าที่ดูดี เข้ากับยุคสมัยหรือเทรนดี้ และสะอาด น่าสวมใส่ 


เมื่อได้เข้าใจปัญหาของการส่งต่อเสื้อผ้ามือสองจากประสบการณ์ตรง ในการหาสถานที่จำหน่ายของผู้ขาย และเข้าใจปัญหาของแบรนด์ต่าง ๆ ที่ต้องเจอเก็บเสื้อผ้าค้างสต๊อกแล้ว จึงทำให้เกิดเป็นแอปพลิเคชัน Hangles ที่เป็นพื้นที่คนกลางให้ทั้งคนขายและคนซื้อเสื้อผ้ามือสองมาเจอกันขึ้น


การพัฒนาแอปพลิเคชัน “Hangles” 


ช่วงแรก Hangles ได้ใช้ช่องทางเว็บไซต์เป็นพื้นที่จำหน่ายทางออนไลน์ หรือ E-market Place แต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่างของเว็บไซต์ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อผู้ใช้งาน โดยบางฟีเจอร์ของเว็บไซต์นั้นไม่สามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งหมด เช่น ระบบการแจ้งเตือน ที่จะไม่ทำงานหากลูกค้าไม่เข้ามาใช้งานเป็นต้น


การพัฒนาจากตัวเว็บไซต์ Hangles มากลายเป็นตัวแอปพลิเคชัน Hangles นั้น ใช้การเชื่อมต่อหลักที่เรียกว่า API (Application Programming Interface) หรือการเชื่อมต่อกันของซอฟต์แวร์จากระบบหนึ่งไปยังระบบหนึ่ง เพื่อบริหารจัดการการซื้อขายครบวงจร เช่น ส่วนของการนำเข้าข้อมูลการสั่งซื้อ, เชื่อมคำสั่งการซื้อ-ขาย, การติดตาม Tracking หรือรหัสเพื่อดูสถานะสินค้า 


ผู้ที่ใช้งานของแอปฯ จะมาจาก 2 กลุ่มหลักคือ ฝั่งผู้ขายและฝั่งของแบรนด์ต่าง ๆ ซึ่งเลือกได้ว่าต้องการจะโพสต์ขายเสื้อผ้าด้วยตัวเอง หรือ ส่งให้ Hangles เป็นคนดำเนินการ เช่น ทำความสะอาด ตรวจเช็กตำหนิ และโพสต์ให้ ซึ่งหากโพสต์ขายด้วยตัวเองก็จะไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ถ้าหากส่งให้ทาง Hangles เป็นคนดูแลก็จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ส่วนที่ 2 คือฝั่งของผู้ซื้อ ที่เข้ามาใช้งานได้ง่ายไม่ซับซ้อน


สำหรับฟังก์ชันด้านการใช้งาน นอกจากจะหยิบเอาระบบจากตัวเว็บไซต์มาแล้ว ยังได้มีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่ผู้ใช้แนะนำเข้ามาใส่เพิ่มด้วย เพื่อบริการจัดการการซื้อ-ขายแบบครบวงจร ที่ลูกค้าสามารถติดตามสถานะต่าง ๆ ได้แบบ Real-time


ในทางฝั่งผู้ขาย สามารถเลือกได้ว่าอยากจะโพสต์ขายสินค้าด้วยตัวเอง หรือ หากไม่มีเวลาสามารถส่งมาฝากขายให้ Hangles ได้ ซึ่งมีบริการแบบ Full service ที่จะจัดการให้ตั้งแต่การตรวจสอบ ทำความสะอาด ถ่ายรูป พร้อมทั้งขายให้เลยทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ 


รวมทั้งแบรนด์แฟชั่นเอง ที่มีสินค้าค้างสต๊อก สินค้าหลุด QC ก็สามารถมาฝากขายสินค้ากับ Hangles ได้เช่นกัน


เสื้อผ้าแต่ละชิ้นจะมีการติดแท็กหรือการระบุลักษณะเพื่อให้ผู้ซื้อสามารถค้นหาหรือเสิร์ชเจอได้ง่าย ๆ  เช่น ชุดเดรส เสื้อเชิ้ต กระโปรงวินเทจ  มีการเก็บข้อมูลคำที่ลูกค้าใช้ค้นหา เช่น ราคาถูก โดยดูคำว่าราคาถูกของลูกค้านั้น หมายถึงราคาตั้งแต่เท่าไร เป็นต้น


ในส่วนการตั้งราคาขายของเสื้อผ้าบนแอป Hangles จะสามารถทำได้ 2 แบบ คือ เจ้าของเสื้อผ้าตั้งราคาเอง หรือจะให้ Hangles ตั้งราคาให้จากฐานข้อมูลเสื้อผ้าที่มีอยู่ ขณะที่ในการซื้อเสื้อผ้ามือสอง เมื่อเข้าไปในแอปฯ สามารถค้นหาเสื้อผ้าต่าง ๆ ตามประเภท เช่น สี ไซซ์ แบรนด์ ได้โดยตรง


ปัจจุบัน & อนาคตของ “Hangles” 


ปัจจุบัน Hangles ก่อตั้งมาแล้ว 3 ปี มีการหมุนเวียนเสื้อผ้ามือสองไปหลายหมื่นชิ้น  มีจำนวนเสื้อผ้าในแอปพลิเคชันมากกว่า 100,000 ชิ้น ในหลายประเภท ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และมีจำนวนแบรนด์กว่า 50 แบรนด์ ที่สนใจนำเสื้อผ้าค้างสต๊อกหรือตกรุ่นมาจำหน่าย 


ด้านข้อจำกัด เสื้อผ้าที่จะนำมาขายในแอปพลิเคชัน Hangles จะต้องเป็นเสื้อผ้าที่มีชื่อแบรนด์ และเป็นของแท้ เนื่องจากว่าสามารถนำมารีเซลหรือขายอีกครั้งได้คุ้มค่ากว่าเสื้อผ้าที่ไม่มีแบรนด์ และส่วนใหญ่จะเน้นไปที่กลุ่มเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย รวมถึงสำหรับผู้ที่ไม่ถนัดใช้งานแอปพลิเคชัน ก็มีพื้นที่แบบออฟไลน์หรือหน้าร้านย่านสยามสแควร์ ให้ได้มาเลือกหยิบจับสินค้าจริง


ส่วนการพัฒนาในอนาคต Hangles มีแผนจะนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้มากขึ้น เช่น การใช้รูป ในการค้นหาสินค้า ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องพิมม์อะไรเลย และตั้งเป้าเป็นตัวกลางเชื่อมระบบนิเวศแฟชัน หรือ Fashion Ecosystem ให้ไม่เกิดการสร้างขยะหรือ Zero Waste อย่างแท้จริง โดยในเรื่องนี้ทางคุณเพ็ญพิชชา ได้อธิบายเอาไว้ว่า


“เพราะการส่งเสื้อผ้ามาฝากขายกับ Hangles แน่นอนว่ามันไม่ใช่ทุกตัวที่จะผ่าน เพราะเสื้อผ้าบางชุดมันอาจมีตำหนิบ้าง ซึ่งทาง Hangles มีพาร์ทเนอร์กับโรงงานรีไซเคิล ซึ่งถ้าเสื้อผ้าตัวไหนที่มีตำหนิจนไม่สามารถใช้ได้แล้วจริง ๆ ไม่สามารถขายต่อได้ ไม่สามารถนำไปใช้งานได้ เทาง Hangles ก็จะส่งให้โรงงานไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี ให้มันไม่ไปเป็นขยะ 


แล้วถ้ามันมีตำหนิเล็กน้อย ก็จะส่งให้นักออกแบบ ให้สามารถเอาไป Upcycle ได้  โดยที่ Hangles เป็นตัวกลางที่จะสามารถทำให้มันลดขยะได้จริง ๆ”

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง