ใครป่วยโควิดต้องรักษาฟรี หากถูกเรียกเก็บเงินให้แจ้งสายด่วน 1426
วันนี้ (18พ.ค.64) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณี ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลถึงหญิงสาวรายหนึ่งซึ่งนำบิดาที่ป่วยด้วยอาการโรคโควิด 19 เข้ารักษากับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แต่กลับถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลหลักแสน อีกทั้งยังมีการระบุว่าโรงพยาบาลฯ ให้ญาติผู้ป่วยดำเนินการเบิกจ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ด้วยตนเองนั้น ตนขอชี้แจงว่า
การที่โรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด 19 ซึ่งถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขนั้น ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายสถานพยาบาล และยิ่งในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลซึ่งเป็นปราการสำคัญในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด 19 ยิ่งจะต้องให้ความสำคัญต่อบทบาทหน้าที่ดังกล่าว โดยจากการสอบถามข้อเท็จจริง พบว่าการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลนั้นเกิดจากความเข้าใจผิดว่าผู้ป่วยปฏิเสธการรักษาตามสิทธิจากโรงพยาบาลแห่งแรก จึงทำการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย
ทางกรม สบส.และ สปสช.ได้ประสานและทางโรงพยาบาลเอกชนจะคืนเงินให้ผู้ป่วย พร้อมส่งเรื่องเบิกค่ารักษาไปที่ สปสช. ตามหลักเกณฑ์ และเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย กรม สบส.ก็จะดำเนินการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมอีกด้วย
อย่างไรก็ดี กรม สบส.ต้องขอเน้นย้ำให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากกรม สบส.พบว่าโรงพยาบาลเอกชนมีการปฏิเสธการรักษา หรือเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยหรือญาติ กรม สบส.จะดำเนินการเอาผิดตามที่พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541กำหนด
ซึ่งผู้ประกอบกิจการและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บหรือให้สำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลโรคโควิด 19 ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน กรม สบส. 1426 เพื่อดำเนินการตามกฎหมายทันที (ข้อมูล ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 มีโรงพยาบาลที่ถูกร้องเรียนกรณีเรียกเก็บค่ารักษาโรคโควิด 19 จำนวน 65 แห่ง โรงพยาบาลคืนเงินครบแล้ว จำนวน 44 แห่ง อีก 21 แห่ง อยู่ระหว่างการพิจารณาสอบสวน โดย กรม สบส.)
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า สำหรับการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด 19 นั้น โรงพยาบาลเอกชนจะต้องรวบรวมเอกสารหลักฐานสรุปค่าใช้จ่ายส่งให้กับ สปสช.เอง มิใช่ให้ผู้ป่วยหรือญาติเป็นผู้รวบรวมเอกสารส่งเบิกฯ โดยเมื่อ สปสช.ได้รับเอกสารจากโรงพยาบาลเอกชนครบถ้วนแล้ว ก็จะมีการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร เพื่อแจ้งให้กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายซึ่งประกอบด้วย 3 กองทุน ได้แก่
1.กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
2.กองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคม
3.กองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการทราบ ดำเนินการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในอัตราตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขฯ ให้กับโรงพยาบาลเอกชนโดยที่ผู้ป่วยหรือญาติ ไม่ต้องสำรองจ่ายแต่อย่างใด