รีเซต

ประกันสังคม ลดเงินสมทบ ม.33-ม.39 บรรเทาค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องค่าครองชีพ

ประกันสังคม ลดเงินสมทบ ม.33-ม.39 บรรเทาค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องค่าครองชีพ
TNN ช่อง16
29 กันยายน 2565 ( 15:49 )
133
ประกันสังคม ลดเงินสมทบ ม.33-ม.39 บรรเทาค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องค่าครองชีพ

เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้าง ที่ต้องปรับตัวรับมือกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.02 % ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป และช่วยเหลือผู้ประกันตนให้มีค่าใช้จ่ายเป็นค่่าครองชีพเพิ่มขึ้น 

กระทรวงแรงงาน จึงมีมาตรการลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมเพื่อบรรเทาภาระนายจ้างและผู้ประกันตนให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพ

โดยเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงแรงงาน ลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม มาตรา 33 และ มาตรา 39 เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ตุลาคม - ธันวาคม 2565 โดย มาตรา 33 ให้นายจ้างและผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละ 3 ของค่าจ้างจากเดิมที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 ส่วนมาตรา 39 ปรับลดเงินสมทบจากอัตราเดิมเดือนละ 432 บาทเป็นเดือนละ 240 บาท ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน

การลดอัตราเงินสมทบงวดเดือน ตุลาคม - ธันวาคม 2565 นี้ จะทำให้กองทุนประกันสังคมจัดเก็บเงินสมทบได้ลดลง 17,044 ล้านบาท โดยผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบลดลง 9,080 ล้านบาท และนายจ้างจ่ายลดลง 7,964 ล้านบาท แต่เมื่อมองไปที่การบรรเทาภาระของนายจ้างจากสภาวะเศรษฐกิจและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศที่ทำให้นายจ้างต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เพื่อให้นายจ้างมีสภาพคล่องเพิ่มและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกันตน จะเห็นถึงความคุ้มค่ากับการที่ภาครัฐยื่นมือช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการมีสายป่านยาวขึ้น ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนความกังวลว่าการลดอัตราเงินสมทบจะส่งผลต่อการรับสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพหรือไม่นั้น สำนักงานประกันสังคมได้ยืนยันว่าจะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์กรณีบำนาญชราภาพและสิทธิประโยชน์กรณีอื่นๆ เพราะการคำนวนสิทธิประโยชน์กรณีบำนาญจะคิดจากฐานค่าจ้างเงินเดือน ไม่ได้คิดจากอัตราเงินสมทบที่ส่งเข้ากองทุน และสำนักงานประกันสังคม มีการบริหารสภาพคล่องอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นสร้างผลตอบแทนให้มีการเติบโตในระยะยาวเพื่อให้มีเงินกองทุนเพียงพอสำหรับการจ่ายสิทธิประโยชน์ทุกกรณี โดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม

ซึ่งในเรื่องนี้นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้ย้ำถึงเรื่องที่เงินสมทบลดลงว่าไม่มีผลกระทบต่อกองทุนชราภาพ แต่จะมีผลต่อเม็ดเงินที่จะนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลกำไรตอบแทนที่จะหายไปประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเม็ดเงินหมุนเวียนในโครงสร้างเศรษฐกิจแล้วถือว่าคุ้มค่า ช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้า



ข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม

ภาพจาก สำนักงานประกันสังคม TNN ONLINE





ข่าวที่เกี่ยวข้อง