รีเซต

หมอนิธิ ชี้หากจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ กทม.ต้องฉีด 6 ล้านคนใน 4 เดือน

หมอนิธิ ชี้หากจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ กทม.ต้องฉีด 6 ล้านคนใน 4 เดือน
TNN ช่อง16
4 มิถุนายน 2564 ( 12:27 )
44
หมอนิธิ ชี้หากจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ กทม.ต้องฉีด 6 ล้านคนใน 4 เดือน

วันนี้( 4 มิ.ย.64) ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "ใน กทม. มีประชาชนประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งควรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 6 ล้านคน จึงจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อยับยั้งการระบาด รวมแล้วต้องให้บริการฉีดวัคซีน 12 ล้านโดส เราควรฉีดให้เสร็จใน 4 เดือน หรือ 120 วัน (ถ้าช้ากว่านี้ อาจจะมีปัญหาในการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ ) ดังนั้น ในกรุงเทพมหานคร เราต้องบริการฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 100,000 โดส การเปิดจุดบริการฉีดน้อยแห่งจะทำให้เป็นไปได้ยากมากถึงมากที่สุด

ขณะนี้ กทม. มีจุดบริการฉีดวัคซีน ไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง คิดว่ายังไม่รวมของมหาวิทยาลัยต่างๆ คำนวณง่ายๆ เอาตัวเลขกลมๆ แต่ละจุดบริการควรฉีดได้ 3,000 - 5,000 ราย ทุกวันโดยไม่มีวันหยุดในการเริ่มต้นแรกๆ แต่ละจุดอาจจะฉีดได้ไม่ถึงเป้าและควรต้องปรับระบบไปทุกๆ วัน พร้อมกับการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไม่ลังเลที่จะฉีดและอำนวยความสะดวกในการไปรับการฉีด 

การกระจายวัคซีน ของกรมควบคุมโรคติดต่อ สธ. กทม. และมหาวิทยาลัยในสังกัด อว. ในขณะนี้ถูกต้องเหมาะสมแล้วครับ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ก็ทำมาพักหนึ่งกว่าจะปรับระบบได้ ดังนั้น ในช่วงนี้ที่ปริมาณวัคซีนกำลังทะยอยเข้ามา จึงเหมาะแล้วที่ควรให้เริ่มไปช่วยกันหลายๆแห่งเพราะทุกๆที่ต้องใช้เวลาพัฒนาขบวนการให้ได้เร็วและใช้คนประจำให้น้อยให้ได้เพราะต้องทำกันอีกนานมากๆๆ ถึงตรงนี้แหละครับ (ร่ายที่มาที่ไปเสียยาว) ทั้งสามส่วนงานข้างต้นและราชวิทยาลัย / โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ มีการหารือคุยกันใกล้ชิดตลอดเวลา และเห็นพ้องต้องกัน ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน คือทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยต้องได้รับวัคซีนโดยเร็วครับ และทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์จะได้รับการจัดสรรวัคซีนหลักมา เมื่อมีปริมาณวัคซีนหลักมากขึ้นนะครับ

สำหรับ หกแสนกว่าคนที่ได้ลงทะเบียนรอมารับการฉีดวัคซีนที่ศูนย์บริการวัคซีนของราชวิทยาลัยฯ และได้รับหมายเลข ID ที่ไปแล้ว ผู้ที่ได้รับหมายเลข ID มากกว่า 250000 ขึ้นไปที่สามารถหาจุดฉีดวัคซีนที่อื่นๆ ใน กทม.ได้ ผมขอแนะนำว่าให้ไปลงทะเบียนและหาที่ฉีดวัคซีนโดยเร็ว โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการรุนแรงถ้าติดเชื้อและผู้ที่เสี่ยงสูงในการได้รับเชื้อและแพร่เชื้อได้ง่าย 

ส่วนผู้สูงอายุ ผู้ป่วยของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และผู้ด้อยโอกาสที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตหรือการจองออนไลน์ รวมถึงผู้ที่ไว้วางใจโรงพยาบาลจุฬาภรณ์โรงพยาบาลจะทะยอยเรียกเข้ามารับวัคซีนต่อไปโดยเร็ว เช่นเดียวกันกับผู้ที่มีนัดรับวัคซีนเข็มที่สองยังเข้ามารับตามนัดได้ครับ……และเมื่อมีวัคซีนมาเพื่มปรับแผนใหม่จะแจ้งอีกครั้ง

“ทำดีไว้แล้วก็จะดี”

“ทำดีไว้แล้วก็จะดี”

นิธิ มหานนท์ 

เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์

๔ มิถุนายน ๖๔

#ความดีต้องช่วยกันทำ

#สามัคคีกันไว้เราต้องสู้กับมันไปอีกนาน

#วัคซีนช่วยฟื้นชีวิตชีวาสังคมไทย"


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง