ถอดรหัส “สนามบินแห่งอนาคต” โจทย์ใหญ่ของการขับเคลื่อนสนามบินไทยสู่ระดับโลก
ธุรกิจท่าอากาศยานและสายการบินทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ โดยเฉพาะความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้โดยสาร หลังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวพลิกฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งประเทศที่มีการท่องเที่ยวเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างประเทศไทย ก็ต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับโจทย์ใหญ่นี้เช่นกัน
ขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY กล่าวว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมท่าอากาศยานทั่วโลกมีการนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับการให้บริการภายในสนามบินจนเกิดเทรนด์ใหม่ๆ ดังนี้
1. Immersive Technology and Digital Twin
หลังเกิดปรากฏการณ์ที่หลายธุรกิจนำเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Immersive Technology) ทั้งเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกจริง (Augmented Reality: AR) และเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality: VR) มาเป็นตัวเชื่อมต่อประสบการณ์ของผู้บริโภค เข้ากับสินค้าและบริการต่างๆ บนโลกเสมือนจริงกันมากมาย ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจสายการบินก็มีการพัฒนาแพลตฟอร์มจำลองวิวและบรรยากาศภายในห้องโดยสาร เพื่อช่วยให้ผู้โดยสารจองตั๋วและตัดสินใจเลือกที่นั่งได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการบินยังใช้เทคโนโลยีฝาแฝดดิจิทัล (Digital Twin) จำลองโครงสร้างจากวัตถุจริง และใช้เซ็นเซอร์ช่วยตรวจจับการเปลี่ยนแปลงแบบเรียลไทม์ มาช่วยออกแบบและผลิตเครื่องบิน รวมถึงตรวจจับและแก้ไขระบบวิศวกรรมต่างๆ ภายในท่าอากาศยาน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากปัญหาระบบขัดข้องที่จะกระทบต่อเวลาเดินทางของผู้โดยสาร
2. End-to-End Passenger Experience
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้คนคุ้นชินกับการใช้ระบบไร้สัมผัสที่สามารถดำเนินการทุกขั้นตอนด้วยตัวเองได้อย่างรวดเร็ว การให้บริการภายในสนามบินยุคปัจจุบันจึงต้องลดความซับซ้อนลง โดยนำโซลูชันอัจฉริยะเข้ามาช่วยให้ผู้โดยสารสะดวกมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่เข้าสนามบินจนถึงลงจากเครื่องบิน อาทิ Check-In Kiosk และ Self Bag Drop จุดบริการเช็กอินและโหลดสัมภาระได้ด้วยตัวเอง e-Gates ที่ใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometrics) สแกนใบหน้า ม่านตา หรือลายนิ้วมือ เพื่อยืนยันตัวตนแทนหนังสือเดินทาง ให้ผู้โดยสารสามารถเช็กอินและผ่านจุดตรวจคนเข้าเมืองได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วินาที
3. Integrated Digital Journey
นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ยังต้องการเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง สนามบินและสายการบินต่างๆ จึงพัฒนาแอปพลิเคชันให้ผู้โดยสารสามารถจัดการทุกขั้นตอนผ่านสมาร์ทโฟนได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น ค้นหาและจองเที่ยวบิน เช็กอินออนไลน์ แจ้งเตือนเที่ยวบิน ติดตามสัมภาระได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง บริการสอบถามข้อมูลและแจ้งปัญหา ขณะเดียวกัน สนามบินบางแห่งยังมีการใช้หุ่นยนต์นำทาง ช่วยพาผู้โดยสารไปยังจุดบริการต่าง ๆ ภายในสนามบินได้อย่างแม่นยำ
4. Passenger Flow Solutions
การกลับมาอย่างฉับพลันของการท่องเที่ยวทำให้หลายสนามบินเผชิญปัญหาผู้โดยสารหนาแน่น จึงมีการนำโซลูชันเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการการไหลเวียนของผู้โดยสาร (Passenger Flow) อย่างเช่น เทคโนโลยีเซ็นเซอร์สำหรับตรวจจับเส้นทางการเคลื่อนที่ของผู้โดยสารแบบเรียลไทม์ แล้วนำมาจำลองพฤติกรรมของผู้ใช้บริการ
ตั้งแต่ระยะเวลาเดินทางไปยังจุดตรวจคนเข้า-ออกประเทศ ระยะเวลาเดินทางไปยังประตูขึ้นเครื่องบิน หรือแม้แต่เวลาที่เหลืออยู่สำหรับการช้อปปิ้งก่อนขึ้นเครื่อง เพื่อวิเคราะห์ประเภทผู้โดยสาร และออกแบบระบบการให้บริการต่างๆ ในสนามบินให้คล่องตัวยิ่งขึ้น
5. Sustainable Aviation
ความยั่งยืนเป็นอีกโจทย์สำคัญที่ท้าทายอุตสาหกรรมการบิน เนื่องจากภาวะโลกร้อน อีกทั้งผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สนามบินและสายการบินต่างพยายามปรับรูปแบบการให้บริการที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เช่น การออกแบบอาคารผู้โดยสารที่ช่วยลดการใช้พลังงาน โดยนำระบบอาคารอัจฉริยะเข้ามาตรวจจับการทำงานของระบบควบคุมความร้อนและความเย็น มีพื้นที่สีเขียวในร่ม ติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ใช้ระบบไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนการใช้พลังงานทางเลือกสำหรับเครื่องบิน เช่น เชื้อเพลิงพลังงานไฮโดรเจน
ในขณะที่ประเทศไทยเอง ก็มีแนวคิดในการพัฒนาสนามบินแห่งอนาคตมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะท่าอากาศยานหลักของประเทศไทยอย่างสนามบินสุวรรณภูมิ ได้มีการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารทั่วโลก เพื่อยกระดับท่าอากาศยานไทยสู่การเป็นสนามบินอัจฉริยะ (Digital Airport) เช่นกัน
อาทิ ระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (CUPPS) ตั้งแต่ตรวจบัตรโดยสาร ตู้ Kiosk สำหรับเช็กอินด้วยตัวเอง ไปจนถึงประตูทางออกขึ้นเครื่องอัตโนมัติ และแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT ที่มีฟีเจอร์หลากหลาย ครอบคลุมทุกความต้องการการเดินทาง สำหรับดูแลผู้โดยสารตั้งแต่ก่อนเดินทางจนถึงออกจากสนามบิน
ขณะเดียวกัน ทีมพัฒนาเทคโนโลยีของ SKY ยังร่วมกับ ESIC Lab ของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านการท่าอากาศยานกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับการให้บริการที่เหนือชั้นยิ่งขึ้นด้วยแหล่งข้อมูลที่หลากหลายในสนามบิน อาทิ พฤติกรรมการใช้งานพื้นที่ภายในสนามบิน ข้อมูลเที่ยวบิน ความหนาแน่นของผู้โดยสารในแต่ละพื้นที่ เพื่อพัฒนาทั้งบริการด้านประสบการณ์ในสนามบินของผู้โดยสาร และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ภายใต้หลักการของการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและถูกเวลากับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อรักษามาตรฐานการบริการให้สามารถรองรับการขยายตัวของจำนวนผู้โดยสาร และมุ่งสู่ความเป็นสนามบินแห่งอนาคตได้