รีเซต

​หมอธีระวัฒน์ เตือน! ไม่รับประทานอาหารเช้าเสี่ยงสารพัดโรค

​หมอธีระวัฒน์ เตือน! ไม่รับประทานอาหารเช้าเสี่ยงสารพัดโรค
TNN ช่อง16
20 มิถุนายน 2565 ( 15:42 )
100

วันนี้ ( 20 มิ.ย. 65 )ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอธีระวัฒน์” ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก 

“ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” ระบุว่า

พูดกันมานานและฝังใจกันมาตลอดว่าอาหารเข้าเป็นมื้อสำคัญที่สุด ในแง่ของการคุมน้ำหนัก แจ่มใส ทนงาน ไม่ล้า และลดความเสื่ยงต่อการเกิดความดันสูง โรคหัวใจ ไขมันสูง เบาหวาน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม หลักฐานเชิงประจักษ์ตัวเป็นๆ ที่จะแสดงให้เห็นคุณงามความดียังไม่เป็นที่ชัดเจน จวบจนกระทั่งมีรายงานหลักฐานจากการศึกษาที่ญี่ปุ่นตีพิมพ์ในวารสารโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke 2016) แสดงให้เห็นชัดว่า ถ้าไม่กินตอนเช้า จะเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ทั้งจากเส้นเลือดแตก และตันในสมอง รวมทั้งโรคหัวใจ

การศึกษานี้ติดตามคนญี่ปุ่น 82,772 รายเป็นชาย 38,676 ราย และหญิง 44,096 ราย โดยมีอายุระหว่าง 45- 74 ปี ตามไปตั้งแต่ปี 1995 จนถึงปี 2010 

โดยที่เริ่มแรกผู้เข้าร่วมการศึกษาไม่มีโรคหัวใจหรือมะเร็ง และจำแนกแจกแจงการกินอาหารเช้าจากกินอาทิตย์ละ 0-2, 3-4, 5-6 วัน และกินทุกวัน ทั้งนี้มีการประเมินปัจจัยต่างๆ ทั้งชนิดของอาหาร ปริมาณ ส่วนประกอบ และพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เล่นกีฬา มีความเครียดระดับใด สูบบุหรี่ ดื่มแค่ไหน นอนหลับพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ เป็นคนใช้แรงงาน และอยู่โดดเดี่ยวคนเดียวหรืออยู่เป็นครอบครัว และประเมินน้ำหนักตัว ดัชนีมวลกายรวม การเกิดความดันสูง เบาหวาน ระหว่างที่ติดตามการศึกษา ระดับไขมัน การใช้ยาความดัน ยาลดไขมัน ยาเบาหวาน และอื่นๆ

เมื่อสิ้นสุดการศึกษาในปี 2010 รวมการติดตามทั้งหมดเป็น 1,050,030 คน-ปี จากประชากรศึกษา 82,772 ราย ทั้งนี้มีเพียง 7 % (5,839 ราย) ที่ติดตามได้ไม่ครบ 15 ปี พบว่ามีอุบัติการณ์ของโรคเส้นเลือดหัวใจ 4,642 โรคอัมพฤกษ์ 3,772 ราย (เส้นเลือดสมองแตก 1,051 ตกเลือดในเยื่อหุ้มสมอง 417 และเส้นเลือดตันในสมอง 2,286 ราย) และมี 870 รายที่เกิดเส้นเลือดหัวใจตีบและเสียชีวิตทันที ที่น่าสนใจคือ เป็นความจริงที่อาหารเช้ามีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงการเกิดโรค โดยถ้ากินบ่อยครั้งหรือทุกวันในหนึ่งอาทิตย์ กลับปลอดโรคมากขึ้น

ทั้งนี้โดยที่เมื่อปรับเกณฑ์ต่างๆเข้าด้วยกันของ อาหาร น้ำหนัก ยาที่ใช้ โรคที่เป็น การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ ปริมาณผัก ผลไม้ ปลา เต้าหู้ นม ถั่ว ไขมันอิ่มตัว ปริมาณกากใย ไฟเบอร์ และแม้แต่ปริมาณเกลือโซเดียมก็ตาม ยังพบว่าการที่ไม่กินอาหารเช้าหรือยิ่งอดบ่อยกลับมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับความเสี่ยงของโรคทั้งหลายทั้งปวง กลไกที่เกี่ยวข้องอาจจะอธิบายจากการที่คนอดอาหารจะมีความดันขึ้นสูง โดยเฉพาะในช่วงเช้ามืดและเป็นเวลาเดียวกับที่เส้นเลือดสมองชอบแตก 

ทั้งนี้จะเกี่ยวเนื่องจากความเครียด ที่ส่งผลจากสมองส่วนไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ลงมาต่อมใต้สมอง และลงมายังต่อมหมวกไตหรือไม่ อาจจะยังบอกไม่ได้ แต่ถ้าอธิบายจากระบบนี้จะมีสารสื่อสมองหลายตัว รวมทั้งฮอร์โมน สเตียรอยด์ด้วย ซึ่งส่งผลถึงความดันและเส้นเลือด

การศึกษานี้น่าสนใจตรงที่เป็นคนเอเชียด้วยกันและอาจจะใกล้เคียงคล้ายคลึงบ้างกับคนไทย และที่น่าแปลกอีกประการคือ ในฝรั่ง ถ้าไม่กินข้าวเช้าดูจะเกิดหัวใจวายมากกว่าโรคทางสมองอย่างในคนญี่ปุ่น ทั้งนี้โดยที่เส้นเลือดแตกจะสูงกว่าเส้นเลือดสมองตีบด้วยซ้ำ 

การศึกษานี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นดังนั้นคงไม่มีการโปรโมทใดๆที่เกี่ยวกับการค้า และไม่เกี่ยวข้องชัดเจนกับการกินอาหารสุขภาพชนิดใดๆ แม้ว่าถ้ากินผัก ผลไม้ กากใย ถั่ว เป็นหลักด้วย ผลประโยชน์น่าจะยิ่งมากขึ้น ร่วมกับการไม่อดมื้อเช้า

คราวนี้คงพูดได้ อาหารเช้าสำคัญแค่ไหนและน่าจะเริ่มเป็นบรรทัดฐานของการมีชีวิต

สุขภาพที่ไม่ได้เพ่งพิจารณาถึงชนิดและส่วนประกอบของอาหารว่าต้องเพิ่มปลา ผัก ผลไม้ กากใยแต่อย่างเดียว เพราะแม้แต่คนไม่ยอมอดข้าวเช้า และพลังงานที่กินเข้าไปเป็นจำนวนแคลอรี่ต่อวันมากกว่า แต่กลับหุ่นสวยได้สัดส่วน โดยที่มีแนวโน้มที่จะมีชีวิตเป็นสุข นอนหลับเต็มอิ่มระหว่าง 6-8 ชั่วโมง และถึงแม้จะมีความดัน ไขมันสูงก็สามารถคุมด้วยยาได้อย่างหมดจด 

ทั้งนี้มีลักษณะสุขภาวะที่น่าสนใจอีกประการ คือ คนไม่อดข้าวเช้า ไม่ได้อยู่คนเดียว อยู่รวมเป็นครอบครัว และเป็นคนใช้แรงงานทำป่าไม้ จับปลา ทำการเกษตรเป็นส่วนมาก แม้ว่ากระบวนการทางสถิติจะปรับตัวแปรเหล่านี้ออก โดยชูการไม่อดข้าวเช้าเป็นประเด็นสำคัญของการไม่มีโรค แต่หมอคิดว่าการหล่อหลอมครอบครัวให้มีความสุขร่วมกัน และเริ่มวันใหม่ที่สดใส อาจเป็นหัวใจหลักครับ


ข้อมูลจาก  : เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha


ข่าวที่เกี่ยวข้อง