รีเซต

จีนเผยผลการวิเคราะห์ตัวอย่างหินด้านไกลของดวงจันทร์จากยานฉางเอ๋อ-6

จีนเผยผลการวิเคราะห์ตัวอย่างหินด้านไกลของดวงจันทร์จากยานฉางเอ๋อ-6
TNN ช่อง16
23 กันยายน 2567 ( 08:06 )
21

จีนเผยรายงานฉบับแรกเกี่ยวกับผลการวิเคราะห์ตัวอย่างหินด้านไกลที่เก็บส่งกลับมายังโลกโดยยานฉางเอ๋อ-6 ผลการวิเคราะห์บางส่วนพบว่ามีความแตกต่างจากหินด้านใกล้ของดวงจันทร์ ซึ่งอาจนำไปสู่การศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่ ๆ ของวิวัฒนาการของดวงจันทร์

 

ก่อนหน้านี้จีนได้ส่งยานฉางเอ๋อ-6 ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2024 ยานเดินทางเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2024 และลงจอดด้านไกลของดวงจันทร์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2024 และทำภารกิจเก็บตัวอย่างหินดวงจันทร์น้ำหนัก 1.935 กิโลกรัม ก่อนบินขึ้นจากพื้นผิวดวงจันทร์ในวันที่ 3 มิถุนายน 2024 และเชื่อมต่อกับยานบนวงโคจรของดวงจันทร์ในวันที่ 6 มิถุนายน ก่อนเดินทางกลับถึงโลกเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2024 


ในเบื้องต้น ตัวอย่างหินด้านไกลของดวงจันทร์จะถูกนำไปเก็บไว้ในสถานที่ที่หน่วยงานด้านอวกาศจีนสร้างขึ้นเป็นพิเศษเพื่อการจัดเก็บ การวิเคราะห์ และการส่งต่อไปยังทีมวิจัยต่าง ๆ ในประเทศจีน โดยในตอนนี้รายการวิจัยบางส่วนได้เริ่มตีพิมพ์ใน National Science Review ให้นักวิจัยในประเทศจีน และต่างประเทศได้รับทราบข้อมูลผลการวิเคราะห์


นักวิจัยหลี่ ชุนไหล (Li Chunlai) และทีมนักวิจัย ได้ร่วมกันศึกษาตัวอย่างหินด้านไกลของดวงจันทร์ และพบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้


1. หินด้านไกลของดวงจันทร์ด้านไกลมีความหนาแน่นต่ำกว่ามากกว่าตัวอย่างหินด้านใกล้ของดวงจันทร์ที่เก็บส่งกลับมายังโลกก่อนหน้านี้ ตัวอย่างหินด้านไกลของดวงจันทร์มีโครงสร้างที่หลวมและมีรูพรุนจำนวนมาก 


2. หินด้านไกลของดวงจันทร์ประกอบด้วยอนุภาคสีอ่อน เช่น เฟลด์สปาร์และแก้ว มากกว่าตัวอย่างที่เก็บได้จากหินด้านใกล้ของดวงจันทร์ ข้อมูลนี้และข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับองค์ประกอบอาจบ่งชี้ถึงแหล่งที่มาของหินด้านไกลบนพื้นผิวดวงจันทร์ ตัวอย่างเช่น การพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย โดยนักวิจัยเชื่อว่าหินบะซอลต์ที่พบในบริเวณที่ยานฉางเอ๋อ-6 ลงจอด อาจผสมเข้ากับหินที่เกิดจากการระเบิดของดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งชนดวงจันทร์


3. หินด้านไกลของดวงจันทร์มีความเข้มข้นของ KREEP ที่ต่ำมาก ซึ่งตัวของธาตุ KREEP มักพับในบริเวณด้านใกล้ของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นลักษณะของหินที่มีส่วนประกอบโพแทสเซียม (สัญลักษณ์ทางเคมี K) รวมไปถึงธาตุหายาก (REE) และฟอสฟอรัส (สัญลักษณ์ทางเคมี P) ซึ่งมีอยู่มากมายบนด้านใกล้ของดวงจันทร์ ความไม่สมมาตรนี้อาจอธิบายได้บางส่วนว่าเหตุใดด้านไกลจึงแตกต่างจากด้านใกล้ของดวงจันทร์มาก


นักวิจัยจากประเทศจีนยืนยันว่าตัวอย่างหินด้านไกลเหล่านี้อาจช่วยส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับดวงจันทร์ ซึ่งรวมถึงวิวัฒนาการในช่วงแรกของดวงจันทร์ กิจกรรมของภูเขาไฟที่แตกต่างกันระหว่างด้านใกล้และด้านไกล ประวัติการชนของระบบสุริยะชั้นในบันทึกกิจกรรมของกาแล็กซีที่เก็บรักษาไว้ในชั้นหินต่าง ๆ ของดวงจันทร์ และองค์ประกอบโครงสร้างของเปลือกแมนเทิลของดวงจันทร์


หลังจากนี้นักวิจัยชาวจีนจะมีโอกาสศึกษาวิจัยตัวอย่างหินดวงจันทร์ด้านไกลไปอีกประมาณ 2 ปี ก่อนจะมีการส่งต่อให้ทีมนักวิจัยประเทศอื่น ๆ เข้าร่วมการศึกษาวิจัยดังกล่าว


สำหรับเหตุผลที่มีการแบ่งแยกดวงจันทร์ออกเป็น ดวงจันทร์ด้านใกล้และดวงจันทร์ด้านไกล นั้นเกิดขึ้นจาก ดวงจันทร์ด้านใกล้ นั้นเป็นด้านของดวงจันทร์ที่หันเข้าหาโลกตลอดเวลา เนื่องจากการหมุนของดวงจันทร์รอบตัวเองใช้เวลาเท่ากับการโคจรรอบโลก ทำให้เราเห็นเพียงด้านเดียว ส่วนดวงจันทร์ด้านไกลเป็นด้านที่หันออกจากโลกและไม่สามารถมองเห็นได้จากโลกโดยตรง ต้องใช้ยานอวกาศในการสำรวจ


ที่มาของข้อมูล Space.com

ที่มาของรูปภาพ CCTV

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง