เช็กลิสต์ สินค้าไทย "เสี่ยง" รับแรงกระแทก ภาษี "ทรัมป์"

ไทย "เสี่ยง" รับแรงกระแทก ภาษี "ทรัมป์"
2 เมษายน 2568 คือ เส้นตายล่าสุด ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะเริ่มใช้หรือจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ต่อทุกประเทศที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ
ภายใต้ "แผนการค้าที่เป็นธรรมและเท่าเทียม (Fair and Reciprocal Plan)” สั่งให้มีการตรวจสอบมาตรการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของประเทศคู่ค้าอย่างครอบคลุม แผนดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อกำหนด “ภาษีศุลกากรตอบโต้” (Reciprocal Tariffs) กับประเทศที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ
“ภาษีศุลกากรตอบโต้” หมายถึง การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้า ในอัตราเดียวกับที่ประเทศเหล่านั้นเก็บภาษีสินค้าส่งออกจากสหรัฐฯ
นโยบายนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เกิด “ความเท่าเทียมทางการค้า” ระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า หรือพูดง่ายๆสหรัฐ ไม่เสียเปรียบ ไม่ขาดทุน
ภาษีตอบโต้ที่เกิดขึ้นนี้ ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับสูง ซึ่งหมายรวมครอบคลุมไปถึงประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศเดียว
ดังนั้น เมื่อหันกลับมามองที่บ้านเรา "ประเทศไทย" ก็ไม่อาจหนีพ้น"แรงกระแทก"ครั้งนี้ เมื่อประเทศไทยมีสหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้ารายสำคัญ และเราก็เกินดุลการค้ากับสหรัฐมาต่อเนื่อง และยังมีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สหรัฐฯ เป็น ตลาดส่งออก อันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วน 18% ของ มูลค่าส่งออก ทั้งหมด
ปี 2567
ไทยส่งออกไปสหรัฐ มูลค่า 54,956.2 ล้านดอลลาร์
ไทยนำเข้าไปสหรัฐ มูลค่า 19,528.6 ล้านดอลลาร์
รวมไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐ 35,427.6 ล้านดอลลาร์
สูงสุดอันดับที่ 12 ของโลก
(*บางข้อมูลระบุว่าอันดับที่ 11 )
สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในระดับสูง ที่ไทยอาจถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพราะความไม่สมดุลทางการค้า
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ผลกระทบของทรัมป์ 2.0 โดยเฉพาะมาตรการภาษี และมีการตอบโต้กันระหว่างสหรัฐ จีน ยุโรป รวมถึงเม็กซิโก และแคนาดา เป็นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ต้องติดตามว่าในอาเซียนจะมีการปรับขึ้นภาษีจากสหรัฐหรือไม่ เพราะมี 2 ประเทศที่เกินดุลการค้าสูง ได้แก่ เวียดนามและไทย อาจมีผลต่อเศรษฐกิจไทย
เบื้องต้นประเมินผลกระทบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมเม็ดเงินที่อาจจะต้องสูญเสียไปประมาณ 160,472 ล้านบาท ส่งออกติดลบ 1.52% ผลต่อจีดีพีลดลง 0.87%
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ยังต้องติดตามผลกระทบทางอ้อม ที่อาจมีสินค้าจีนทะลักเข้ามาในไทยมากขึ้น เพราะสินค้าจีนส่งไปขายสหรัฐด้วยราคาต้นทุนที่แพงขึ้น เช่น จีนขายโน๊ตบุ๊คให้สหรัฐ ราคาเพิ่มขึ้นจาก 1,000 เหรียญสหรัฐ เป็น 1,600 เหรียญสหรัฐ
ไทยที่ส่งสินค้าชิ้นส่วนประกอบไปขายให้จีนก็จะส่งออกได้ลดลงเช่นกัน
โดยกลุ่มสินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ "เหล็ก ผลิตภัณฑ์เหล็ก อะลูมิเนียม รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ"
ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า" สินค้าไทย" กลุ่มเสี่ยง ถูกรีดภาษี
โดยวัดจากสถิติการค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 61 – 66) )
พบว่ามีทั้งหมด กลุ่มหลัก 29 กลุ่มสินค้า
เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ,
เครื่องโทรศัพท์มือถือ
ไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำแบบไวแสง (โซลาร์เซลล์)
ยางนอกชนิดอัดลมที่เป็นของใหม่
หม้อแปลงไฟฟ้า
เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่
เครื่องปรับอากาศ
เครื่องพิมพ์ที่ป้อนกระดาษเป็นม้วน
เครื่องส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์
วงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์
เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ
และส่วนประกอบของสินค้าดังกล่าว
กลุ่มสินค้าอื่น ๆ
เช่น
เครื่องจักรไฟฟ้า
ตู้เย็นตู้แช่แข็ง
เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ
ผลิตภัณฑ์จากไม้
กลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปบางรายการ
เช่น ปลาสด แช่เย็น แช่แข็ง ขนมหวานที่ไม่มีส่วนผสมจากโกโก้
กลุ่มเหล็ก
ผลิตภัณฑ์เหล็ก อะลูมิเนียม รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ
อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ยังต้องติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความไม่แน่นอนสูงและยังการเปลี่ยนแปลงคำสั่้งหรือนโยบายได้เสมอ
ทั้งนี้ล่าสุด เมื่อวันที่พุธที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้มีการลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร เพื่อเรียกเก็บ"ภาษีนำเข้ารถยนต์ทุกคันที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐฯ" โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เมษายน 2568 โดยภาษีนำเข้ารถยนต์ครั้งล่าสุดนี้ เพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 2.5% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการฟื้นฟูการผลิตภายในประเทศและดึงดูดการลงทุนเพิ่มเติมเข้ามาในสหรัฐอเมริกา