รีเซต

จัดพอร์ตการลงทุนในคริปโตฯ ไตรมาส 3 ปี 2021 วิเคราะห์โดย Zipmex

จัดพอร์ตการลงทุนในคริปโตฯ ไตรมาส 3 ปี 2021  วิเคราะห์โดย Zipmex
TNN ช่อง16
16 กรกฎาคม 2564 ( 11:54 )
119

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุน Digital Large Cap ของ Grayscale เป็นอีกหนึ่งกองทุนที่ต้องยื่นรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐอเมริกา เพื่อตรวจสอบการดำเนินงานต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้  โดยก่อนหน้านี้มีเพียงกองทุน Bitcoin Trust และกองทุน Ethereum Trust ที่ต้องยื่นรายงาน ซึ่งเป็นกองทุนที่มีลักษณะมุ่งเน้นไปที่กองลงทุนในคริปโตฯ เหรียญใดเหรียญหนึ่งเป็นหลัก แต่ความน่าสนใจอยู่ที่นโยบายการลงทุนของกองทุน Grayscale Digital Large Cap นั้น มีความแตกต่างกับกองทุนที่เคยยื่นรายงานไปอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากไม่ได้ลงทุนในคริปโตฯ เหรียญใดเหรียญหนึ่ง แต่เป็นมีลักษณะในการกระจายการลงทุน ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของ ก.ล.ต. สหรัฐฯ ต่อการลงทุนในคริปโตฯ ที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น


กองทุน Grayscale Digital Large Cap คืออะไร? มีนโยบายการลงทุนอย่างไร?

กองทุน Grayscale Digital Large Cap หรือ GDLC จัดตั้งตั้งแต่กุมภาพันธ์ปี 2018 เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางการเงินของ Grayscale ซึ่งเป็นบริษัทด้านการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยข้อมูลอ้างอิงจากทวิตเตอร์ของ Grayscale ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 พบว่า กองทุน Grayscale Digital Large Cap Fund มีสินทรัพย์ทั้งหมดภายใต้การบริหารจัดการ (Asset under management: AUM) จำนวนทั้งสิ้น 352.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 11,280 ล้านบาท ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของกองทุนที่มี AUM สูงที่สุดของ Grayscale สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของนักลงทุนในการลงทุนในคริปโตฯ

นโยบายการลงทุนของกองทุนนี้ มุ่งเน้นไปที่สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่ (Large cap digital assets) โดยจะมีการทบทวนการจัดพอร์ตการลงทุนทุก ๆ ไตรมาส ทั้งในเรื่องการจัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่ลงทุนและน้ำหนักในการลงทุน ซึ่งจะประกาศออกมาในวันทำการวันแรกของไตรมาสนั้น ๆ ซึ่งในไตรมาส 3 ของปี 2021 ทาง Grayscale ได้มีการจัดพอร์ตการลงทุนเป็นไปตามรายละเอียดดังต่อไปนี้


ภาพแสดงองค์ประกอบของกองทุน Grayscale Digital Large Cap

    

จากภาพ แสดงรายชื่อสินทรัพย์ดิจิทัลและน้ำหนักการลงทุนของกองทุน Grayscale Digital Large Cap พบว่า มีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่ ได้แก่ Bitcoin (BTC) 67.47%, Ethereum (ETH) 25.39%, Cardano (ADA) 4.26%, Bitcoin Cash (BCH) 1.03%, Litecoin (LTC) 0.99%, Chainlink (LINK) 0.86% ซึ่งรายละเอียดของเหรียญแต่เหรียญ นักลงทุนสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บนเว็บไซต์ของทาง Zipmex ( https://zipmex.com/th/coin-info/)

หากสังเกตจากรายชื่อของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ลงทุนและน้ำหนักการลงทุนแล้ว อาจกล่าวได้ว่า กองทุนนี้ มีลักษณะบริหารจัดการเงินลงทุนคล้ายกับกองทุนประเภท Passive Fund ซึ่งมีลักษณะการบริหารจัดการที่ล้อไปกับดัชนี หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการจัดพอร์ตการลงทุนให้ล้อไปกับภาพรวมของตลาดคริปโตฯ 


นอกจากนั้นยังมีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และด้วยการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลในพอร์ตการลงทุนนั้น เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มี Market Cap ใหญ่ ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงเม็ดเงินลงทุนและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในตลาดได้ การลงทุนในลักษณะนี้ จึงอาจเหมาะกับนักลงทุนที่ใช้วิธีการ DCA นักลงทุนที่ไม่มีเวลาเฝ้าตลาด หรือแม้กระทั่งนักลงทุนมือใหม่



 ภาพแสดงผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุน Grayscale Digital Large Cap Fund เปรียบเทียบกับผลตอบแทนของตลาดคริปโตฯ 


จากภาพแสดงผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุน Grayscale Digital Large Cap Fund พบว่า ผลตอบแทนของกองทุนมีความใกล้เคียงกันกับผลตอบแทนของตลาด โดยผลตอบแทนที่ได้รับนับตั้งแต่ต้นปี 2021 (YTD) อยู่ที่ +37.24% ในขณะที่ผลตอบแทนของตลาดอยู่ที่ +26.12% แม้ผลตอบแทนในระยะสั้น (เช่น 1 เดือน, 3 เดือน) อาจมีความผันผวน เนื่องจากในช่วงไตรมาส 2 ปี 2021 ภาพรวมของตลาดได้รับผลกระทบจากแรงดันเรื่องการห้ามทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตฯ ในประเทศจีน และการระงับการรับชำระเงินของ Bitcoin ของ Tesla 


อย่างไรก็ตาม การจัดพอร์ตการลงทุนในลักษณะนี้ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องจากเป็นการเน้นการลงทุนไปในสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่ จึงอาจทำให้ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของราคาในสินทรัพย์ดิจิทัลกลุ่มเดียว กล่าวคือ เมื่อสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น (ลดลง) ผลตอบแทนที่จะได้รับก็มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น (ลดลง) ได้ แต่ในช่วงที่นักลงทุนหันไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีขนาดเล็ก อาจทำให้ผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนไม่เป็นไปตามภาพตลาดรวม 


กล่าวโดยสรุป กองทุน Grayscale Digital Large Cap หรือ GDLC เป็นกองทุนที่บริหารงานโดย  Grayscale โดยมีนโยบายการลงทุนที่มุ่งเน้นไปที่สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่ มีการทบทวนพอร์ตการลงทุนทุก ๆ ไตรมาส ซึ่งหากดูรายชื่อของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ลงทุนและน้ำหนักการลงทุน พบว่า มีลักษณะคล้ายกับกองทุน Passive Fund








ข่าวที่เกี่ยวข้อง