ซูดานปะทะรุนแรงวันที่ 3 เสียชีวิตเกือบร้อย เจ็บอีกกว่าพันคน
การปะทะระหว่างกองทัพยังรุนแรง
เหตุสู้รบกันอย่างรุนแรงในกรุงคาร์ทูม เมืองหลวงของซูดาน ยังคงดำเนินต่อไป หลังจากที่หยุดยิงกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อเปิดทางให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงพื้นที่สู้รบได้ในวันที่ 2 (16 เมษายน) หลังจากที่เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงของคู่ขัดแย้งทางการทหารที่หวังช่วงชิงการครอบครองประเทศซูดานในแอฟริกาแห่งนี้
สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุด เมื่อนับถึงสิ้นวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีพลเรือนเสียชีวิตรวมอย่างน้อย 97 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 1,100 คน
การปะทะกันเกิดขึ้นระหว่างกองทัพซูดาน กับกลุ่มกองกำลังกึ่งทหาร หรือ RSF (Rapid Support Force) นำมาสู่ความกังวลอย่างมากต่อประชาคมนานาชาติ รวมถึงประเทศที่มีพรมแดนติดกันอย่าง อียิปต์ และชาด ด้วย
จุดเริ่มต้นของความรุนแรงระลอกใหม่มีขึ้นเมื่อวันเสาร์ (15 เมษายน) เมื่อกองทัพซูดานปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อฐานที่มั่นของกองกำลังกึ่งทหาร หรือ RSF ใกล้กรุงคาร์ทูม เมืองหลวงซูดาน เพื่อยืนยันการควบคุมประเทศที่วุ่นวายในวันอาทิตย์
หลังการแย่งชิงอำนาจกันปะทุขึ้นจนเกิดการยิงปะทะกัน และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่ทั้งสองฝั่งได้ร่วมมือกันเพื่อปลดประธานาธิบดี โอมาร์ อัล-บาชีร์ เมื่อปี 2019 ก่อนที่จะเริ่มมีความเห็นไม่ลงรอยกัน เกี่ยวกับการรวม RSF เข้ากับกองทัพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองของพลเรือน
รวมกองทัพที่ยังสรุปไม่ได้
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ คือ แผนการที่จะควบรวมกองกำลังของกลุ่ม RSF 100,000 นาย เข้ากับกองทัพ แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ว่าใครจะได้เป็นคนคุมกองทัพใหม่ดังกล่าว
ทั้งนี้ แม้จะโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีลงได้ แต่ซูดานก็ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของนายพลมาตั้งแต่ปี 2019 และทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ นำมาสู่การแย่งชิงอำนาจที่เลวร้ายภายใต้ผู้นำทางการทหารของประเทศ และลุกลามกลายเป็นความรุนแรงระหว่างสองกลุ่มที่เป็นอริกัน
กองทัพซูดาน ภักดีต่อพลเอกอับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน (ผู้บัญชาการกองทัพ) ขณะที่กองทัพ RSF นำโดยพลเอกโมฮาเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล หรือที่รู้จักกันในชื่อเฮเมดติ (รองผู้บัญชาการ)
ซึ่งเวลานี้ ทั้งสองฝ่ายอ้างการครอบครองพื้นที่ในกรุงคาร์ทูม โดยกลุ่ม RSF ระบุว่า สามารถยึดครองทำเนียบประธานาธิบดี, สนามบินคาร์ทูม และสถานที่สำคัญทางยุทธศาสตร์อื่น ๆ ได้ แต่ทางกองทัพปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าว
ขณะที่ประชาชนต้องหลบภัยจากเหตุระเบิดรุนแรงหลายครั้ง
แฟ้มภาพ Reuters
หยุดยิงเพื่อเปิดทางช่วยเหลือระยะเวลาสั้น ๆ
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกับข้อเสนอของสหประชาชาติ หรือ UN ที่ต้องการให้หยุดยิง เพื่อหวังให้ทั้งสองฝ่ายเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่พื้นที่สู้รบ พร้อมกับการเปิดทางให้อพยพผู้บาดเจ็บไปยังพื้นที่ปลอดภัย เป็นระยะเวลา 3 ชั่วโมง และสิ้นสุดลงเมื่อเวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น แต่กระนั้นเอง.. ก็ยังคงมีรายงานว่าได้ยินเสียงอาวุธดังขึ้นในช่วงเวลา 3 ชั่วโมงที่หยุดยิง ก่อนที่จะกลับมาเปิดฉากยิงกันต่อในทันทีที่หมดเวลา
ด้านแพทย์เตือนว่าสถานการณ์ในโรงพยาบาลในกรุงคาร์ทูมจะเลวร้ายลงอีก เนื่องจากไม่สามารถจัดส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ร่อยหรอลง เข้าไปยังพื้นที่ได้ อีกทั้งตอนนี้ก็เริ่มขาดแคลนเลือด และอุปกรณ์จำเป็นสำหรับช่วยชีวิตแล้ว
ทหารชิงอำนาจ แต่ประชาชนเดือดร้อน
ประชาชนในกรุงคาร์ทูม ต่างใช้ชีวิตด้วยความหวาดผวา หลายคนบอกว่า ไม่ได้นอนนานกว่า 24 ชั่วโมง เพราะเสียงปืน และระเบิดที่ดังขึ้นต่อเนื่อง ที่ทำให้บ้านทั้งหลังสั่นไหว และกลัวว่าอาหารและน้ำจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต หากการต่อสู้ยังคงยืดเยื้อออกไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีคนในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง
ขณะที่ประชาชนอีกคนบอกว่า พลเรือนได้รับคำเตือนให้อยู่แต่ในบ้านเพื่อความปลอดภัย .. แต่พวกเขาก็ไม่รู้สึกว่าที่บ้านของตนเองปลอดภัยอีกต่อไปแล้ว
นานาชาติร้องหยุดยิงโดยไร้เงื่อนไข
มหาอำนาจระหว่างประเทศ ทั้งสหรัฐฯ, จีน, รัสเซีย, อียิปต์, ซาอุดีอาระเบีย, สหประชาชาติ, สหภาพยุโรป, สหภาพแอฟริกา ต่างออกมาเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายยุติความเป็นปรปักษ์กันทันที และขอให้หันสู่การเจรจา
ขณะที่อียิปต์ และซูดานใต้ ซึ่งมีพรมแดนติดกันทางเหนือและใต้ของซูดาน ได้เสนอตัวเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างสองนายพลของซูดาน และเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิง และหันสู่การเจรจาเพื่อสันติภาพโดยเร็ว
ด้านโครงการอาหารโลก หรือ WFP ประกาศระงับปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั้งหมดในซูดานเป็นการชั่วคราว หลังจากมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 3 คน
ในแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง WFP ระบุว่า รู้สึกตื่นตระหนกกับข่าวการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ 3 คน พร้อมทั้งขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวของพวกเขา และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในซูดานเคารพความเป็นกลางของเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในซูดาน ซึ่งบทบาทของพวกเขาคือการช่วยเหลือทุกฝ่ายในวิกฤตนี้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภารกิจและประชาชนที่รับความช่วยเหลือ
โดย UN ระบุว่า มีประชาชนชาวซูดานอย่างน้อย 1 ใน 3 ที่ต้องการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
————
แปล-เรียบเรียง: ภัทร จินตนะกุล
ภาพ: Reuters
ข้อมูลอ้างอิง: