รีเซต

มีอยู่จริงเหรอ ? เมืองแห่งอนาคต สร้างจากเทคโนโลยีสุดล้ำอย่างกับในหนัง

มีอยู่จริงเหรอ ? เมืองแห่งอนาคต สร้างจากเทคโนโลยีสุดล้ำอย่างกับในหนัง
TNN ช่อง16
11 มกราคม 2566 ( 16:40 )
218



น้ำกำลังท่วมโลก !?


ปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วโลก นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจปฏิเสธไม่ได้ว่า สาเหตุสำคัญมาจากภาวะโลกร้อน ที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นและเกิดการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก จนส่งผลอย่างรายแรงต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศต่ำกว่าระดับน้ำทะเล


จากข้อมูลของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) คาดการณ์ว่าระดับน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกโดยเฉลี่ยอาจเพิ่มขึ้นถึง 84 เซนติเมตรในระหว่างปี พ.ศ.2562-2643 และคาดการณ์ว่าก่อนปี 2593 ประชาชนกว่า 600 ล้านคนทั่วโลก ที่อาศัยในที่ราบลุ่มอาจต้องเผชิญกับน้ำท่วมชายฝั่ง 


นั่นทำให้หลายประเทศเริ่มตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของที่อยู่อาศัยให้สามารถลอยน้ำได้ เพื่อแก้ปัญหาเมืองจมน้ำ รวมไปถึงการสร้างเมืองที่ยั่งยืนด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สาเหตุภาวะโลกร้อน 




เมืองกำแพง "เดอะไลน์ (The Line)"


หนึ่งในโครงการสร้างเมืองใหม่ของซาอุดีอาระเบีย ที่มีชื่อว่า "เดอะไลน์ (The Line)" เป็นเมืองในกำแพงขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วยตึกระฟ้า วางยาวต่อกันเป็นแนวราบ รองรับผู้อยู่อาศัยได้ประมาณ 9 ล้านคน หรือเกือบเท่ากับประชากรของมหานครนิวยอร์ก


  • การวางผังเมืองและพื้นที่ต่าง ๆ ในเดอะไลน์จะไล่ไปตามความยาวของกำแพง
     
  • ตัวกำแพงจะสูงประมาณ 500 เมตร 

  • กว้างประมาณ 200 เมตร 

  • ความยาวของกำแพงในแผนที่วางไว้ ยาวกว่า 170 กิโลเมตร หรือเทียบเท่าระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปถึงเมืองอ่างทอง

  • ภายใน กำแพงนี้ มีพื้นที่ใช้สอย อยู่ที่ประมาณ 34 ตารางกิโลเมตร แบ่งสัดส่วนสำหรับเป็นที่อยู่อาศัย โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล สนามกีฬา ที่สำนักงาน พื้นที่สาธารณะ 

  • พื้นที่ต่าง ๆ  ถูกออกแบบมาให้เชื่อมต่อกันได้ในรูปแบบสามมิติ ไม่ว่าจะการเดินขึ้น ลง หรือเชื่อมต่อกับตึกตรงข้าม ทำใ้ห้ผู้อยู่อาศัยสามารถเดินทางไปสู่จุดต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

  • ระบบขนส่งภายใน จะใช้รถไฟความเร็วสูงพลังงานไฟฟ้า เป็นระบบขนส่งหลักสำหรับผู้โดยสาร รวมไปถึงสินค้าและทรัพยากรด้านต่าง ๆ ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางจากจุดเริ่มต้น ไปยังจุดสิ้นสุดของกำแพง โดยใช้เวลาเพียง 20 นาที เท่านั้น

  • นอกจากนี้ตัวเมืองยังมีแผนที่จะสร้างระบบให้ใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับแผนของประเทศ ที่ต้องการลดการพึ่งพาพลังงานน้ำมันลง รวมถึงจะใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ เพื่อให้บริการประชาชน


สำหรับการพัฒนา เดอะไลน์ อยู่ภายใต้โครงการยักษ์ใหญ่ นิอูม (Neom) หรือโครงการเมืองแห่งอนาคต ของซาอุดิอาระเบีย เป้าหมายคือการนำประเทศก้าวไปสู่ยุคใหม่ที่ยั่งยืน โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณก่อสร้างในโครงการ นิอูม กว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 19 ล้านล้านบาท


ปัจจุบัน เดอะไลน์ได้เริ่มต้นก่อสร้างแล้ว  ซึ่งถ้าหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของเมืองแบบใหม่ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์และโลกใบนี้ได้




เมืองว่ายน้ำ "แพนเจียส (Pangeos)"


"แพนเจียส (Pangeos)" คือไอเดียเมืองลอยน้ำยักษ์เคลื่อนที่ได้ รูปทรงแปลกตา  คล้ายเต่ายักษ์ โดยถ้าพูดตามข้อมูลแล้ว แพนเจียส นั้นไม่ใช่เมือง แต่คือยานพาหนะทางน้ำรูปแบบหนึ่ง ออกแบบโดย ปิแอร์เปาโล ลัซซารินี (Pierpaolo Lazzarini) นักออกแบบชาวอิตาลีที่คาดหวังให้โครงการนี้เป็นจริงขึ้นมา เพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตให้ล้ำไปอีกขั้น 


  • แพนเจียส จะกว้าง 610 เมตร มีความยาวตลอดทั้งเรืออยู่ที่ 550 เมตร

  • ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าจำนวน 9 ตัว คาดสามารถสร้างกำลังได้ 16,800 แรงม้า

  • สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยอัตราความเร็วสูงสุดที่ประมาณ 9 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

  • ใช้ระบบพลังงานแบบไฮบริดจากแหล่งพลังงานผสมที่ติดตั้งบนเรือ

  • ภายในเรือ ประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของการพักผ่อน โรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า พื้นที่ส่วนชมวิวใต้ทะเล รวมถึงส่วนที่พักอาศัยจำนวน 30,000 ห้องพัก รองรับผู้เข้าพักอาศัยได้สูงสุด 60,000 คน 


ปัจจุบันตัวเมืองได้เริ่มเปิดระดมทุนแล้วในตอนนี้ คาดว่าจะต้องใช้ต้นทุนการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 3 แสนล้านบาท คาดจะเป็นรูปเป็นร่างได้อย่างเร็วที่สุดภายใน 8 ปี



เมืองลอยน้ำเกาหลีใต้ "OCEANIX Busan"


"OCEANIX Busan" เป็นโครงการเมืองลอยน้ำของเกาหลีใต้ ที่จะก่อสร้าง ณ เมืองพูซาน ตัวแผนผังของเมืองจะถูกสร้างขึ้นเป็นชุด หรือเรียกว่า "แพลตฟอร์ม" ซึ่งในแต่ละแพลตฟอร์มจะมีพื้นที่ลอยน้ำที่เชื่อมต่อกันและสามารถเดินข้ามไปมาภายในแพลตฟอร์มของตนเองได้ ในเบื้องต้นจะสร้างขึ้นมาทั้งหมด 3 แพลตฟอร์ม ใช้พื้นที่ราว 63,000 ตารางเมตรและรองรับจำนวนผู้อยู่อาศัยได้มากถึง 12,000 คน แต่ในอนาคตอาจขยับขยายเพิ่มขึ้นถึง 20 แพลตฟอร์ม


ในเมืองลอยน้ำจะประกอบด้วยระบบสำคัญ 6 ประการ ได้แก่ 

1. ระบบไหลเวียนเพื่อสร้างเมืองไรสิ่งปฏิกูล

2. ระบบลำเลียงน้ำแบบปิดภายในเมือง

3. แหล่งอาหาร

4. แหล่งสร้างพลังงานไร้มลพิษ5

5. นวัตกรรมในการเคลื่อนย้าย และ

6. การฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัย


การสร้างพลังงานในเมืองลอยน้ำนี้ จะเกิดจากกลไกในการเปลี่ยนพลังงานจลน์จากกระแสน้ำให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า ร่วมกับการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า ด้วยแผงโซลาเซลล์ที่อยู่ตามหลังคาของบ้านแต่ละหลัง นอกจากนี้ในบ้านแต่ละหลังจะมีระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ เพื่อนำน้ำที่ใช้แล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อย ๆ หรือการผันน้ำจากทะเลมาใช้เป็นน้ำจืดอุปโภค-บริโภค รวมถึงยังมีพื้นที่รองรับการทำการเกษตรอีกด้วย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง