รีเซต

เปิดกลยุทธ์ “SCBX” -ไทม์ไลน์ปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นกลุ่ม SCB ครั้งใหญ่

เปิดกลยุทธ์ “SCBX” -ไทม์ไลน์ปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นกลุ่ม SCB ครั้งใหญ่
TNN ช่อง16
25 กันยายน 2564 ( 12:23 )
371
เปิดกลยุทธ์ “SCBX” -ไทม์ไลน์ปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นกลุ่ม SCB ครั้งใหญ่

เป็นที่ฮือฮาในวงการธุรกิจอย่างมาก กับการประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB  และเปลี่ยนเป็นบริษัท“SCBX” เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทน ถือเป็นการฉีกข้อจำกัดธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมที่เคยมีมา 

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า  ปี 68 จะเป็นการมาถึงของ decentralized finance technology การขยายตัวและการบุกของแพลตฟอร์มระดับโลกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด (post-covid) รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไปอย่างมาก จะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจ ในแบบ intermediaries หรือการเป็นตัวกลางเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารแบบดั้งเดิมจะลดบทบาทลง  เพราะจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังใหม่ของผู้บริโภคได้ ความสำคัญของธนาคารต่อผู้บริโภคจะลดลงและจะส่งผลลบต่อการให้มูลค่าอนาคตของนักลงทุนต่อธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  แนวโน้มของการถูก disrupt นั้นเริ่มมาเมื่อหกปีก่อนและชัดเจนมากในอีกสามปีข้างหน้า SCB ได้ตั้งโจทย์และเพิ่มศักยภาพตัวเองมาโดยตลอด และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่สำคัญที่สุดในการตั้งคำถามแห่งอนาคตว่าในช่วงเวลาสามปีจากนี้ที่เข้มข้นที่สุด SCB จะต้องแปลงจึงจะสามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นและผู้บริโภค รวมถึงสามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้

SCB จึงจะต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป หากแต่ต้องใช้ความเข้มแข็งทางการเงินของธุรกิจธนาคารปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ เร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินประเภทอื่นที่ตลาดต้องการ และสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี ขนาดใหญ่ให้ทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก เข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อที่จะอยู่รอดปลอดภัยในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้  โดยกลยุทธ์เสริมความแข็งแกร่งธนาคารควบคู่ไปกับการสร้างธุรกิจใหม่สำหรับอนาคตนั้น ในส่วนของธนาคารจะมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการปรับลดกระบวนการขั้นตอนต่างๆให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้มากที่สุดในทุกช่องทาง ธนาคารจะเน้นความสำคัญกับการสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าเป็นที่ตั้ง

ภาพประกอบ : สื่อสารองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ 

ฉีกกฎธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิม

นายอาทิตย์ กล่าวว่า SCB จะไม่เท่ากับธนาคารในความหมายเดิมอีก แต่จะแปลงสภาพกลายเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินที่มีธุรกิจธนาคารที่แข็งแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และจะขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลที่มีการเติบโตสูงที่ธนาคารไม่สามารถตอบสนองได้ โดยแต่ละธุรกิจ SCB จะร่วมมือกับพันธมิตรระดับประเทศและระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่งที่จะเริ่มเปิดตัวในอนาคตอันใกล้นี้  โดยนอกจากการขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลแล้ว SCB จะต้องยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มในการสามารถสร้างและบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หลังจากนำร่องด้วย "โรบินฮู้ด ฟู้ดเดลิเวอรี" เป็นโครงการแรก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับแพลตฟอร์มระดับโลก และได้สร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคโนโลยี 

เริ่มจากการก่อตั้งบริษัท "SCB Tech X" และบริษัท "Data X" ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก เพื่อสร้างขีดความสามารถพื้นฐานด้านเทคโนโลยีภายในที่จะสามารถสร้างและ scale platform ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น  นอกจากนั้น SCB จะขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ในระดับโลกเพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่าน SCB 10X และ บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจ digital asset ด้านต่างๆ ใน business model ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มในระยะยาว

ภาพประกอบ : TNN Online

จัดตั้ง"ยานแม่" บุกลงทุนธุรกิจที่หลากหลาย

การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ในครั้งนี้เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจในภาพรวมผ่านการจัดตั้งบริษัทใหม่ที่ธนาคารเรียกว่าเป็น "ยานแม่" หรือ "Mother hood" ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ คือ เอสซีบี เอกซ์ (SCBX)  ที่จะเป็นบริษัทใหม่ที่ธนาคารจะเปลี่ยนเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทนธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBX) ซึ่งเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดจากกฎระเบียบแบบเดิมที่ธนาคารทำไม่ได้ ทำให้การดำเนินธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น และสามารถลงทุนในธุรกิจอื่นๆที่ต่อยอดการเติบโตได้

โดยการปรับโครงสร้างธุรกิจมาเป็น SCBX ครั้งนี้ ตามแผนงาน 5 ปีที่ตั้งไว้ถึงปี 68 จะตั้งเป้าขึ้นเป็นบริษัทในระดับภูมิภาคและนานาชาติ จะครอบคลุมการขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 200 ล้านราย สามารถผลักดันการเติบโตของผลการดำเนินงานได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า (Quality Earning 2X) และผลักดันมูลค่าหลักทรัพย์ในตลาด (Market Cap) ของ SCBX แตะ 1 ล้านล้านบาทภายในปี 68

ภาพประกอบ : สื่อสารองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์

ไทม์ไลน์การปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นกลุ่ม SCB ก่อนนำหุ้นบริษัท“SCBX”

สำหรับขั้นตอนการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นกลุ่ม SCB ก่อนนำหุ้นบริษัท เอสซีบี เอกซ์ หรือ “SCBX” เข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แทน ก่อนเพิกถอนหุ้น SCB ภายในเดือนมี.ค. ปี’65

ซึ่งตามขั้นตอน ในวันที่ 15 พ.ย.2564 จะมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่ออนุมัติการปรับโครงสร้างของกลุ่มธุรกิจโดยอนุมัติให้ดำเนินการแลกหุ้น (Share Swap) จาก “SCB” เป็น “SCBX” และนำหุ้น “SCBX” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ “SCB”

ต่อมาช่วงม.ค.-ก.พ. 2565 ผู้ถือหุ้นจะทำคำตอบรับการเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) จากบริษัท “SCBX” (1 หุ้น SCBต่อ 1 หุ้น SCBX โดยผู้ถือหุ้นต้องตอบรับคำเสนอซื้ออย่างน้อย90% และช่วงเดือนมี.ค. 2565 หุ้น “SCBX”เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) และเพิกถอนหุ้น “SCB”ในวันเดียวกัน

ช่วงเดือนมิถุนายน 2565 “SCB”จ่ายเงินปันผลให้ “SCBX” จำนวน 70,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินการดังต่อไปนี้ ดังนี้ ขั้นตอนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่ม SCB และการนำหุ้นของบริษัท เอสซีบี เอกซ์(SCBx)เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)

นอกจากนี้ นำไปซื้อกิจการบางส่วนจากธนาคารตามแผนปรับโครงสร้างของกลุ่ม, การนำไปลงทุนในกิจการใหม่ๆ ตามแผนงานของกลุ่ม, การนำไปใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจของ “SCBx”, นำไปจ่ายเงินปันผลตามผลประกอบการและนโยบายของกลุ่ม ในกรณีที่มีผู้ตอบรับคำเสนอซื้อ Tender Offer มากกว่า 90% ผู้ที่ไม่ตอบรับคำเสนอซื้อจะยังคงถือหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งจะถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และจะเสียสิทธิที่พึงได้จากการเป็นบริษัทหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภาพประกอบ : สื่อสารองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ 

ที่มา: สื่อสารองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ 

ภาพประกอบ : สื่อสารองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ ,TNN Online 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง