HPT มาร์จิ้นยืนระดับ30% ลดต้นทุน-อัพราคาขาย
#HPT #ทันหุ้น – HPT เร่งปั๊มอัตรากำไรขั้นต้นยืนระดับปกติ 30% หลังปรับกลยุทธ์กดต้นทุนหนุนมาร์จิ้น พร้อมอัพราคาขายขึ้นอีก 10% ด้านแม่ทัพหญิง “นิจวรรณ เชาว์กิตติโสภณ” คาดรายได้ปี 2567 โต 10-15%แผนขยายเตาเผาดันยอด
นางสาวนิจวรรณ เชาว์กิตติโสภณ กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท โฮมพอตเทอรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ HPT ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเซรามิกระดับสากล เปิดเผยว่า ปี 2567 บริษัทคาดอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) จะดีขึ้น เพราะบริษัทปรับปรุงต้นทุนต่างๆ ไปแล้ว โดยการปรับปรุงหลักเป็นเรื่องวัตถุดิบ ทั้งนี้จากครึ่งปีแรก 2566 ราคาวัตถุดิบปรับตัวขึ้นสูง รวมถึงค่าพลังงานปรับขึ้นสูงด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ภาพรวมต้นทุนครึ่งปีแรก 2566 อยู่ในระดับสูง และGross Profit Margin ต่ำลง
** ดันมาร์จิ้นยืนปกติ
ทั้งนี้บริษัทคาดหลังปรับราคาต้นทุน Gross Profit Margin จะกลับมาอยู่ที่ระดับ 25-30% จาก 9 เดือนแรกปี 2566 ลดลงไปที่ 20% นอกจากนี้บริษัทได้ปรับราคาขายสินค้าขึ้นอีก 5-10% และปรับกระบวนการผลิต คาดจะช่วยให้ Gross Profit Margin กลับมายืนระดับปกติได้ในปี 2567
อย่างไรก็ตามในปี 2567 บริษัทจะขยายเตาเผา เพื่อผลิตสินค้าประเภทไฟไชน่า หากสามารถขยายเตาเผาคาดรายได้ปี 2567 จะขยับเพิ่มขึ้น หรือโตต่อจากปี 2566 ที่ 10-15%ทั้งนี้กำลังผลิตไฟไชน่าใช้งานค่อนข้างเต็ม โดยมีกำลังผลิตอยู่ที่ 2.8 ล้านชิ้นต่อปี สำหรับการลงทุนขยายเตาเผาไม่ใช่การลงทุนใหม่ แต่เป็นแผนเดิมในช่วงต้นปี 2566 เครื่องจักรบางส่วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และช่วงการขยายเตาเผาต้องใช้ช่วงวันหยุดยาว ขณะที่การนำเข้าเครื่องล่าช้ากว่าแผน บริษัทจึงเลื่อนการขยายเตาเผาออกไป
สำหรับคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) กลุ่มไฟไชน่าเต็มไปจนถึงต้นปี 2567 ส่วนกลุ่มสโตนแวร์ ซึ่งผลิตโดยพันธมิตรของบริษัท ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาสินค้าใหม่ให้มีความแข็งแรง เพื่อเจาะกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร และเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับบริษัท
** รายได้โต 15%
ปี 2567 บริษัทคาดรายได้จะเติบโต 10-15% จากปี 2566 จะใกล้เคียงปี 2565 ที่ 325.42 ล้านบาท สำหรับทิศทางช่วงที่เหลือของปี 2566 บริษัทมองว่าไตรมาส 4/2566 จะดีกว่าไตรมาส 3/2566 ที่ผ่านมา เพราะเป็นไฮซีซันโรงแรม ร้านอาหาร ขณะที่ออเดอร์ในประเทศค่อนข้างคึกคัก ตามฤดูการท่องเที่ยว
นางสาวนิจวรรณ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการทำโครงการเกี่ยวกับการช่วยลดต้นทุน โดยมุ่งเน้น 2 ส่วนหลักคือพลังงานและวัตถุดิบ ด้านพลังงานบริษัทได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้เริ่มผลิตและจ่ายไฟฟ้าเมื่อประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2565 โดยมีกำลังการผลิต 400 กิโลวัตต์ ซึ่งหลังจากการใช้งานเต็มที่ในช่วงไตรมาสที่ 4/2565 สามารถลดหน่วยการใช้ไฟฟ้าของบริษัทแต่ประมาณ 35-40% ของปริมาณเดิม
นอกจากนี้คาดว่าจะช่วยเคลมในส่วนของคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาเกี่ยวกับ Carbon Footprint ขณะที่วัตถุดิบบริษัทก็มีการวิจัยและพัฒนาสูตรดินและเคลือบโดยทดลองกับแหล่งวัตถุดิบใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อหาวัตถุดิบใกล้เคียงหรือดีกว่าในราคาที่ย่อมเยามาปรับใช้ทดแทนวัตถุดิบตัวเดิม