รีเซต

รังสิมันต์ โรม : “ถ้าผู้แทนราษฎรไม่สามารถพูดหรือถามแทนประชาชนได้ ใครจะหาคำตอบให้แก่สังคม”

รังสิมันต์ โรม : “ถ้าผู้แทนราษฎรไม่สามารถพูดหรือถามแทนประชาชนได้ ใครจะหาคำตอบให้แก่สังคม”
บีบีซี ไทย
19 มิถุนายน 2563 ( 19:47 )
114

 

ตลอดทั้งวัน แฮชแท็ก #saveโรม ขึ้นเป็นเทรนด์ยอดนิยมในทวิตเตอร์ไทย ด้วยยอดทวีตและรีทวีต 9.7 แสนครั้ง ณ เวลา 19.00 น. ส่วน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ง่วนอยู่ในวงประชุมอย่างน้อย 4 วงที่อาคารรัฐสภาย่านเกียกกาย

 

เขาใช้เวลาอย่างน้อย 9 ชม. เพื่อเข้าร่วมประชุมพรรค, ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎร และประชุมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี หรือหมู่อาร์ม เสมียนงบประมาณ สังกัดศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์ กรมสรรพาวุธทหารบก ออกมาเปิดโปงการทุจริตเบี้ยเลี้ยงทหารของผู้บังคับบัญชาในหน่วยงาน และประชุมคณะทำงานเพื่อเตรียมแผนงานในสัปดาห์หน้า โดยมีผู้คนแวะมา "ส่งข่าว-ถามข่าว" เขาอยู่เป็นระยะ ๆ ทางช่องทางติดต่อสื่อสาร

 

"ท่าทางจะมีคนเป็นล้านที่เป็นห่วงว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวผม" รังสิมันต์ โรม กล่าวกับบีบีซีไทยและขอบคุณทุกคนที่ร่วมให้กำลังใจแก่เขา

เขาบอกว่า "รับทราบพร้อมกับคนไทยทั้งประเทศ" และ "รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังตกข่าว" หลังเห็นคำเตือนให้ระวังเรื่องความปลอดภัยที่ปรากฏในทวิตเตอร์ ก่อนกลายแฮชแท็ก #saveโรม ในเวลาต่อมา โดยที่เจ้าตัวยืนยันว่ายังปลอดภัยดีอยู่

 

แต่ถึงกระนั้นครอบครัวของ ส.ส.วัย 28 ปีก็ทั้ง "กังวล" และ "เป็นห่วง" เมื่อเห็นคนนับล้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวในเรื่องของเขา จึงมีคำกำชับมาว่าให้ระวังตัว อย่าไปไหนมาไหนคนเดียว

 

"ผมไม่ได้เป็น ส.ส. ที่มีพื้นฐานร่ำรวยอะไร ถ้ามี รปภ. ก็คงอุ่นใจ แต่ก็คงต้องใช้งบประมาณ เราคงไม่ทำอย่างนั้น ก็คงต้องใช้วิธีให้ทีมงานเป็นเพื่อนไปไหนมาไหนด้วย" เขากล่าว

 

รังสิมันต์ วิเคราะห์ว่า กระแสที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นผลจากการทำหน้าที่ตั้งกระทู้ถามสดในสภาเมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้หลายคนกังวลว่าอาจเกิดอันตรายขึ้นกับเขา ด้านหนึ่ง แสดงให้เห็น solidarity (ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว) ไม่ใช่แค่ต่อตัวผม แต่รวมไปถึงสิ่งที่ผมและพรรคก้าวไกลพยายามผลักดัน เขาจำเป็นต้องยืนยันอำนาจหน้าที่ของ ส.ส. ที่สามารถตั้งคำถามต่อรัฐมนตรีได้ แม้เป็นเรื่องอ่อนไหวก็ตามที

 

"มีคนมาให้กำลังใจ บอกว่าพูดดีมากเลย รัฐมนตรีไปไม่ถูกเลย แต่ก็บอกว่าให้ดูแลตัวเองด้วยนะ ตอนนั้นผมก็แปลกใจว่าเกิดอะไรในประเทศนี้ ทำไมคนถึงตื่นตระหนกกับสิ่งที่ผมตั้งคำถาม แสดงว่าประเทศนี้ตกอยู่ในความกลัว พอเป็นแบบนี้ก็ทำให้การทำหน้าที่ ส.ส. หลายคนอาจต้องเซ็นเซอร์ตัวเองหรือไม่ ถ้าผู้แทนราษฎรไม่สามารถพูดหรือถามแทนประชาชนได้ ใครจะหาคำตอบให้แก่สังคม" รังสิมันต์ ระบุ

 

รังสิมันต์ เป็น 1 ใน 2 ส.ส. เจ้าของกระทู้ถามสดรัฐบาล กรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูก "อุ้มหาย" ระหว่างพำนักอยู่ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ตั้งแต่ 4 มิ.ย. โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เป็นผู้ตอบกระทู้กลางสภาเมื่อ 10 มิ.ย.

 

คำถามบางส่วนที่เกิดขึ้นจาก ส.ส. รังสิมันต์ คือเหตุใดจึงมีชื่อนายวันเฉลิมปรากฏใน "ผังหมิ่นสถาบัน" ทั้งที่ไม่ได้ถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และรัฐบาลได้ตรวจสอบข้อมูลที่ปรากฏในเพจต่าง ๆ เช่น เพจแอนดรูว์ แมคเกรเกอร์ มาร์แชล และเพจ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งอ้างถึงบุคคลที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายวันเฉลิมหรือไม่

 

นายดอนกล่าวตอบตอนหนึ่งว่า "อะไรก็ตามที่ท่านได้ยิน เราก็คุยกันเหมือนกัน คนที่ท่านเอ่ยถึง เช่น แอนดูรว์ หรือใครก็ตามที่ท่านเอ่ยชื่อมาคือ 'ตัวปัญหา' นั่นเอง และหลายเรื่องที่ท่านทราบมาล้วนแต่เป็นเฟคนิวส์"

 

ผ่านไป 1 สัปดาห์ รังสิมันต์ ไม่แน่ใจว่าเนื้อหาส่วนไหนของการทำหน้าที่ในวันดังกล่าวที่ทำให้เกิด "ข่าวว่าอาจถูกปองร้าย" แม้ยังไม่มีข้อเท็จจริงและหลักฐาน แต่เขาชี้แจงว่าเจตนาในการตั้งกระทู้กรณี "อุ้มวันเฉลิม" คือ "ไม่ควรมีใครสมควรตายจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก แน่นอนว่าคนที่ถูกอุ้มฆ่าคือคนที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐ"

 

ส่วนการเอ่ยชื่อบุคคลภายนอกที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จัดให้เป็น "บุคคลต้องห้ามทางอินเทอร์เน็ต" กลางสภานั้น รังสิมันต์ บอกว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาเอ่ยชื่อนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กลางสภา เพราะในคราวอภิปรายเรื่องผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร เขาก็เคยเอ่ยชื่อหลายบุคคล

 

"สำหรับผม การเอ่ยชื่อคือให้เกียรติคนเหล่านี้ แต่ครั้งนี้เป็นการเอ่ยชื่อต่อหน้าผู้มีอำนาจ หรือตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจ ก็อาจจะถือว่ามากกว่าทุกครั้ง" เขาบอก

อย่างไรก็ตามด้วยเอกสิทธิ์คุ้มกันในสภาไม่รองรับกรณีพาดพิงบุคคลที่ 3 ทำให้โรมระบุว่าไม่สามารถให้ข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจงตามที่ปรากฏในโลกออนไลน์ เขาจึงทำได้เพียงการ "ชี้เป้า" โดยหวังให้เจ้าหน้าที่รัฐไปตรวจสอบว่าที่มีแหล่งข่าวพูดมาเป็นเรื่องจริงหรือไม่

 

ส่วนที่มีข้อมูลในโลกออนไลน์ว่านักกิจกรรมอย่างน้อย 3 คนอยู่ในสถานะไม่ต่างจากรังสิมันต์ นั้น เจ้าตัวบอกว่ายังไม่ได้พูดคุยกับคนที่ตกเป็นข่าว แต่เคยพูดไว้แล้วว่าถ้ากรณีนายวันเฉลิมไม่จบในแบบที่คืนความยุติธรรมให้แก่ครอบครัวได้ นายวันเฉลิมจะไม่ใช่คนสุดท้าย ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะไม่มีคนอื่นเลียนแบบพฤติกรรม

 

"ถ้าเราอยากสร้างสังคมที่ปลอดภัย ต้องทำให้ความยุติธรรมเกิดกับครอบครัววันเฉลิมให้ได้ นี่คือทางออกสังคมไทย ต้องสร้างระบบกฎหมายที่คุ้มครองทุกคน" รังสิมันต์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง