รีเซต

'อธิบดีปศุสัตว์’ ลั่น! ไม่ลาออก เซ่นปม อหิวาต์หมู 'ไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้ทุจริต'

'อธิบดีปศุสัตว์’ ลั่น! ไม่ลาออก เซ่นปม อหิวาต์หมู 'ไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้ทุจริต'
มติชน
13 มกราคม 2565 ( 17:25 )
43
'อธิบดีปศุสัตว์’ ลั่น! ไม่ลาออก เซ่นปม อหิวาต์หมู 'ไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้ทุจริต'

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงประเด็นที่มีการกล่าวหากรมปศุสัตว์ปิดบังข้อมูลโรคอหิวาต์หมู หรือโรคอหิวาต์ แอฟริกา​ใน​สุกร (เอเอสเอฟ) เพื่อเอื้อผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ ว่า ไม่เป็นความจริง เพราะผู้เลี้ยง สุกรรายใหญ่อยู่ในระบบฟาร์มมาตรฐาน และธุรกิจของผู้ประกอบการกลุ่มนี้สามารถเดินหน้าต่อได้อยู่แล้ว ส่วนประเด็นที่กล่าวหาว่าปศุสัตว์เอื้อการส่งออกให้กับรายใหญ่ สามารถโชว์ข้อมูลให้ดูได้เลยว่ามีแต่ผู้เลี้ยงสุกรรายกลาง และรายย่อยเท่านั้น ที่มีการส่งออกหมูเป็นไปที่กัมพูชา และเวียดนาม

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่พบเกษตรกรกำจัดหมูโดยนำใส่โอ่ง ที่จ.นครปฐม และทำเป็นปุ๋ยขาย นั้น อยากให้เกษตรกรแจ้งให้กรมรับทราบ พอในกรณีนี้มีการแจ้งย้อมหลังทางกรมก็จะมีการตรวจสอบย้อนหลังเช่นกันว่าทำไมตอนเกิดเหตุไม่แจ้งกรม

ส่วนหลังจากนี้ ได้ร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายกสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์ม และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายอยากให้ผู้เลี้ยงสุกรที่เหลืออยู่เดือดร้อนน้อยที่สุด เพราะนั้นการประกาศโรคไม่ได้หมายความว่าทั่วประเทศจะพบโรคระบาดทั้งหมด แต่จะมีการเฝ้าระวังมากขึ้น หากตรวจพบเชื้อกรมจะเร่งประกาศควบคุมพื้นที่ เพื่อไม่ให้กระจายไปสู่พื้นทีอื่นต่อไป หลังจากนี้จะมีการสุ่มตรวจในทุกพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

“ในการทำงานมาตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ยังไม่ถือว่าหนักที่สุดเพราะตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่ง ในปี 2561 ก็เจอปัญหา โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (เอเอชเอส) และลัมปีสกิน ก็ผ่านมาได้ และขอพูดเลยว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำงานด้วยความตั้งใจ และซื่อสัตย์สุจริต ดังนั้น คิดว่าทุกคนรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกตรและสหกรณ์ก็น่าจะเห็นถึงความตั้งใจที่ผมต้องการทำงานให้ดีที่สุด เพื่อผู้เลี้ยงสุกรและสัตว์อื่นๆ จนกว่าจะเกษียณราชการในอีก 8 เดือนข้างหน้านี้ ละยืนยันว่าจะไม่ลาออกจากตำแหน่งแม้โดนกดดันจากหลายฝ่าย เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้ทุจริต และผมมั่นใจว่าตัวเองทำผลงานได้ดีที่สุดแล้ว” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า ส่วนในเรื่องของการส่งออก นั้น ปัจจุบันได้หยุดการส่งออกตามข้อสั่งการของกระทรวงพาณิชย์แล้ว เพื่อให้ราคาขายเนื้อสุกรภายในประเทศลดลง ส่วนผลิตภัณฑ์แปรรูปมองว่ายังสามารถส่งออกได้ไม่มีปัญหา นอกจากนี้ ยังได้เตรียมวางแผนช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ที่มีมาตรฐานฟาร์ม GFM จะจูงใจให้กลับมาเลี้ยงสุกรอีกครั้งโดยการทำประกันภัยสุกร แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไรต้องมาหารือร่วมกันอีกครั้งต่อไป

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม คาดว่าหมูแพงครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากสุกรตายจากโรคระบาด จากการตรวจสอบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Movement) พบว่าการเคลื่อนย้ายสุกกรในปี 2563 และ 2564 ต่างกันเพียง 1 ล้านตัวเท่านั้น สุกรไม่ได้หายไปจากระบบ 50-60% อย่างที่พูดกัน ซึ่งขณะนี้ ปศุสัตว์จังหวัดอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลที่แท้จริงว่ามีสุกรหายไปจากระบบเท่าไหร่ จึงจะกำหนดนโยบายในการควบคุมต่อไป และคาดว่าประชาชนจะต้องบริโภคหมูแพงไปอีก 8-12 เดือน ส่วนแนวทางจะเป็นอย่างไรจะมีการรายงานให้ประชาชนและทุกฝ่ายทราบต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง