รีเซต

อธิบดีปศุสัตว์ โล่ง! บิ๊กตู่ เข้าใจโรค ASF ขอเวลาพลิกสถานการณ์ 8 เดือน

อธิบดีปศุสัตว์ โล่ง! บิ๊กตู่ เข้าใจโรค ASF ขอเวลาพลิกสถานการณ์ 8 เดือน
ข่าวสด
14 มกราคม 2565 ( 15:44 )
62

อธิบดีกรมปศุสัตว์ โล่ง หลังแจง บิ๊กตู่ ปม ASF ขอเวลาพลิกสถานการณ์ 8-12 เดือน ยันไม่ถอดใจ เผย นายกฯสั่งควบคุมการแพร่ระบาด-ฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อย-ตรึงราคา

 

เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์ ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์ กิจจา อุไรรงค์ ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในประเด็นการแก้ไขปัญหาอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ส่งผลทำให้ราคาเนื้อสุกรภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์

 

นายสัตวแพทย์ สรวิศ เปิดเผยภายหลังว่า นายกฯเรียกมาถามว่า กรมปศุสัตว์ขณะนี้ได้แก้ไขปัญหาอย่างไรไปถึงไหน ซึ่งนายกฯเข้าใจ ต้องการให้เดินหน้าไปด้วยกัน โดยนายกฯสั่งการให้ดำเนินการเรื่องการควบคุมโรค เร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพประสิทธิผล และฟื้นฟูเกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ว่าจะช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

 

นอกจากนี้นายกฯ ยังสอบถามเรื่องการพัฒนาวัคซีน และแนวทางการสำรวจว่า สุกรที่สูญหายไปจากระบบกว่าร้อยละ 50-60 เป็นจริงหรือไม่ ซึ่งได้ขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย ช่วยทำให้ประชาชนผู้บริโภคเดือดร้อนน้อยที่สุด ขณะที่การตรึงราคาสินค้าสุกร ต้องคุยกับกรมการค้าภายใน ซึ่งนายกฯรับทราบมาตลอด ว่ากรมปศุสัตว์ทำอะไรตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

 

ส่วนกระแสข่าวที่บอกว่ากรมปศุสัตว์ปกปิดการแพร่ระบาด นายสัตวแพทย์ สรวิศ ชี้แจงว่า เรื่องนี้นายกฯเข้าใจ เนื่องจากได้รายงานนายกฯตลอด ตั้งแต่ปี 2561 ที่แพร่ระบาดในประเทศจีน และปี 2562 ทำอะไรไปบ้างยกระดับสู่การเป็นวาระแห่งชาติ หากเราปกปิด เราคงส่งออกไปต่างประเทศ 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งเวียดนามและกัมพูชาไม่ได้ เพราะจะต้องมีการตรวจโรค จึงเป็นคำตอบที่สำคัญ

 

ส่วนการของบประมาณ 574 ล้านบาทเพื่อเยียวยา ฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อย จากการลดความเสี่ยง เกิดโรคระบาด ตามหลักระบาดวิทยาของสัตวแพทย์ ที่จะต้องมีการประกาศการแพร่ระบาดและให้รัฐบาลเป็นผู้ชดเชยเยียวยา ซึ่งจะเป็นการชดเชย จะครอบคลุมเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ครอบคลุมผู้ประกอบการรายใหญ่

 

เมื่อถามว่านายกฯได้ขีดเส้นตายในการแก้ปัญหาหรือไม่ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุว่า ไม่ โดยนายกฯ ขอให้ช่วยเหลือกัน เพราะต้องเข้าใจว่าโรคนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิด 34 ประเทศทั่วโลก แต่นายกฯได้ถามตนว่าราคาสุกร ทั้งระบบจะเสร็จเมื่อใด ซึ่งตนก็รายงานไปว่าจะใช้เวลา 8-12 เดือน

 

ส่วนที่นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ สรุปไม่ทราบว่าหมูหายไปไหนนั้น อธิบดีกรมปศุสัตว์ชี้แจงว่า ปกติถ้ามีการแจ้งมากรมปศุสัตว์ ก็จะมีการตรวจสอบ และเก็บตัวอย่าง ซึ่งนายกฯ สั่งการให้สำรวจว่าสุกรนั้นมีอยู่เท่าไร

 

เมื่อถามถึงกรณีมีการข่มขู่เกษตรกรที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลการแพร่ระบาดในพื้นที่ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่าไม่ทราบ เมื่อถามว่าอธิบดีถอดใจหรือไม่ นายสัตวแพทย์ สรวิศ กล่าวว่า “ตั้งแต่ทำงานเป็นอธิบดี ก็ผ่านโรคระบาดมาหลายครั้ง สามารถควบคุมเรียบร้อยทั้งหมด เช่น โรคในม้า และ ลัมปี สกินในวัว ส่วนโรคนี้เกิดมาร้อยปีแล้ว ยังไม่มีวัคซีน ซึ่งนายกฯก็เข้าใจและให้กำลังใจในการทำงานสำเร็จลุล่วง”

 

ด้านนายสัตวแพทย์ กิจจา กล่าวถึงฟาร์มแห่งหนึ่งในจ.นครปฐม ระบุมีการแพร่ระบาดของเชื้อ ASF และมีหมูล้มตาย มากว่า 2 ปีแล้วว่า ประเด็นสำคัญเมื่อประกาศโรคอย่างเป็นทางการแล้ว มาตรการที่จะต้องดำเนินการตามที่นายกฯเสนอ เป็นเรื่องการฟื้นฟูอุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรให้เข้มแข็งขึ้นเหมือนเดิม ส่วนความเสียหายเป็นอย่างไรนั้น ต้องรอประเมินอีกครั้ง พร้อมย้ำว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาคือจะต้องควบคุมการแพร่ระบาด โดยใช้หลักวิชาการเป็นหลัก แต่ไม่ให้เดือดร้อนกับผู้เลี้ยงและผู้บริโภค เรื่องก่อนหน้านี้เป็นเรื่องที่เราไม่ต้องพูดถึงแล้ว ส่วนราคาเนื้อหมูในปัจจุบันก็มีอยู่หลายปัจจัย

 

ส่วนประเด็นที่กลายเป็นว่าประชาชนบริโภคหมูที่ติดเชื้อมากว่า 2 ปีแล้วนั้น นายสัตวแพทย์ กิจจา กล่าวว่า หากเป็นโรคนี้จริง ไม่มีการก่อโรคในคน และสัตว์ชนิดอื่น เนื้อหมูยังบริโภคได้ตามปกติ แต่ต้องเน้นสุขอนามัย ต้องกินสุก และไม่มีพิษภัยต่อคน ยกเว้นสุกร ขออย่าตระหนกและตกใจ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการหารือกับนายกฯเสร็จ อธิบดีกรมปศุสัตว์และนายสัตวแพทย์กิจจา ได้สวมกอดให้กำลังใจกันด้านหลังตึกไทยคู่ฟ้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง