ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดมาตรการรับมือโควิดช่วงสงกรานต์
วันนี้ (31 มี.ค.65) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 43)
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป อย่างต่อเนื่องเป็นระยะนั้น
โดยที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron ) ได้แพร่กระจายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็วจนเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศ ซึ่งบรรดาแพทย์ และหน่วยงานด้านสาธารณสุขได้แนะนำและเชิญชวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุให้เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) อันจะช่วยลดอัตราความเสี่ยง จากการเสียชีวิตและลดความรุนแรงของโรคได้ ประกอบกับการเข้าสู่เทศกาลประเพณีสงกรานต์ ซึ่งมีวันหยุดต่อเนื่องที่คาดการณ์ว่าประชาชนจำนวนมากจะเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยว
รัฐบาล โดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุขจึงเตรียมพร้อมกำหนดเป็นมาตรการควบคุมและป้องกันโรคให้เหมาะสม กับสถานการณ์เพื่อลดความเสี่ยงของการระบาดแบบกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ อีกทั้งเพื่อเป็นการสืบสาน ประเพณีและวัฒนธรรมไทยร่วมกับการสร้างความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม เพื่อให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบำดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19 ) (ศบค.) ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์และการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ให้ ศบค. มีคำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์และกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและเป็นไปตามแผนการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่างๆ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้
ข้อ 2 การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรคให้บรรดามาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่างๆ รวมทั้งมาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564 และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 42) ลงวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2565 ได้แก่
การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค กิจกรรม การรวมกลุ่มของบุคคลที่สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว และมาตรการเฝ้าระวังเพื่อควบคุมการระบาดของโรคในสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค รวมถึงบรรดามาตรการหลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดขึ้นภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป
ข้อ 3 การปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการทั่วราชอาณาจักรเป็นกรณีเฉพาะรองรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนที่จะเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวหรือเดินทางกลับภูมิลำเนาควรได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนดเพื่อลดอัตราการแพร่โรคและการติดเชื้อรุนแรงต่อบุคคลที่มีภาวะเสี่ยง โดยเฉพาะการเข้าเยี่ยมเยียน กราบไหว้ พบปะผู้สูงอายุ ญาติพี่น้อง หรือกลุ่มเปราะบาง และแนะนำให้ประเมินความเสี่ยงสังเกตอาการของตนเอง หรือใช้ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (ชุดตรวจ ATK) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง การพบปะ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมรวมกลุ่ม และขอให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุเตรียมความพร้อมโดยเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและบุคคลในครอบครัว ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณีพิจารณากำหนดสถานที่ กิจการหรือกิจกรรม ที่สามารถดำเนินการได้เป็นกรณีเฉพาะเพื่อการจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์เพื่อสืบสานวัฒนธรรมไทยให้เหมาะสมกับสถานการณ์และพื้นที่รับผิดชอบ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
คลิกอ่าน ราชกิจจานุเบกษาฉบับเต็ม