ส.อ.ท.ผวาแล้งฉุดผลผลิต20-30% คาดอ้อย-ปาล์มกอดคอร่วงระนาว
ผวาแล้งฉุดผลผลิต20-30% ส.อ.ท.หวั่นซ้ำเติมศก.จี้รัฐบริหารน้ำ คาดอ้อย-ปาล์มกอดคอร่วงระนาว
นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถาบันฯยังคงติดตามสถานการณ์ภัยแล้งใกล้ชิดเนื่องจากมีการคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาว่าไทยจะต้องเผชิญกับฝนแล้งที่ยาวนานและผลกระทบอาจรุนแรงกว่าปี 2558 ทิศทางดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรของไทยปี 2563 ลดลงจากปีก่อนเฉลี่ย 20-30% โดยปริมาณน้ำในเขื่อนลดลงอย่างมากทั่วทุกภูมิภาค ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ทั้งที่ไม่ได้ขาดแคลนน้ำเมื่อถึงฤดูฝนน้ำก็ท่วมอีก สิ่งเหล่านี้เพราะไทยไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลควรกำหนดยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและเกษตรปลอดภัยทั้งระยะสั้น กลางและยาวเพื่อเป็นการปรับโครงสร้างภาคการเกษตรทั้งระบบโดยเน้นการปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงไม่ใช่คิดเพียงแผนงาน โดยไทยควรผันน้ำจากแม่น้ำโขงเพื่อมาเติมในภาคอีสานซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้มีน้ำเพียงพอต่อการพัฒนาเกษตรยังทำให้สามารถบริหารจัดการเรื่องน้ำท่วมได้อีกด้วย ขณะที่การพัฒนาเกษตรจะต้องยกระดับเป็นเกษตรปลอดภัย เน้นนวัตกรรมขับเคลื่อน ผลักดันการส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มให้ไทยกลายเป็นครัวโลก ให้รายได้นั้นตกถึงเกษตรกรโดยแท้จริง ทำให้คนไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 7 กล่าวว่า จากภาวะภัยแล้งมีแนวโน้มว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจะได้รับผลกระทบให้ผลผลิตในฤดูหีบปี 2563/64 ที่จะมีการเปิดหีบช่วงปลายปีนี้ให้ตกต่ำอีกครั้งหลังจากการปิดหีบฤดูผลิตปี 2562/63 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อ 25 มีนาคมไทยมีผลผลิตอ้อยอยู่ที่ 74.89 ล้านตันน้ำตาลทรายอยู่ที่ 8.27 ล้านตันนับเป็นปริมาณการผลิตที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี
นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลจากภัยแล้งคาดว่าปีนี้จะกระทบต่อผลผลิตปาล์มจะลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน อย่างไรก็ตามขณะนี้ราคาปาล์มทลายกลับยังคงลดลงต่อเนื่องโดยมาอยู่ที่ 2.50-3.30 บาทต่อกิโลกรัม(กก.)ลดลงจากต้นปีที่อยู่ระดับ 4-5 บาทต่อกก.แม้ว่ากระทรวงพลังงานได้มีการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบนำไปผลิตเพื่อเป็นน้ำมันไบโอดีเซลบี 10 เพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม