GFPTลั่นยุโรปสั่งไก่เพิ่ม รัฐช่วยต้นทุนมาร์จิ้นดีด
#GFPT #ทันหุ้น - GFPT ชี้ออเดอร์ไก่ปรุงสดแปรรูปยุโรปพุ่งทดแทนยูเครน บาทอ่อนหนุนอีก ชี้รัฐช่วยผ่อนคลายต้นทุนข้าวโพดหนุนมาร์จิ้นครึ่งหลังของปี 2565 ฟื้นแกร่ง เดินหน้าขยายตลาดไก่สดตะวันออกกลาง ยอดขายฟื้นตัวชัดตั้งแต่ไตรมาสแรกกำลังการผลิตเพิ่ม แม้ยังเดินเครื่องเพียง 80% พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตเต็มร้อย หากรัฐประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น
นายวีระ ธิตยางกรุวงศ์ ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT เปิดเผยว่า บริษัทเริ่มทยอยรับคำสั่งซื้อสินค้ากลุ่มไก่ปรุงสุกแปรรูปจากคู่ค้าในทวีปยุโรปเพิ่มมากขึ้น หนุนจาก เงินบาทที่อ่อนค่าลง สถานการณ์ระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ที่ส่งผลให้ยูเครนไม่สามารถส่งออกไก่เข้าสู่สหภาพยุโรปได้ พร้อมกันนี้บริษัทยังคงเดินหน้าขยายตลาดสินค้าประเภทเนื้อไก่แช่แข็งเข้าสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง (Middle East) อย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันราคาไก่สามารถทรงตัวในระดับสูง เฉลี่ยที่ 40 บาทต่อกิโลกรัม สูงกว่าที่บริษัทคาดการณ์ และสูงกว่าปี 2564 ที่เฉลี่ยที่ 37 บาทต่อกิโลกรัมได้อย่างต่อเนื่อง และการที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 3 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบผ่อนปรนมาตรการภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอัตราภาษี 0%รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้นำเข้าทั่วไปสามารถนำเข้าได้ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2565 จะเป็นปัจจัยหนุนรายได้ และกำไรขั้นต้น (Margin) ของบริษัทได้เร่งตัวขึ้นต่อเนื่องได้ตลอดครึ่งหลังของปี 2565 (2H/65) เป็นต้นไป
“ที่ผ่านมาต้นทุนอาหารสัตว์เร่งตัวขึ้นและทรงตัวในระดับสูง แต่ความต้องการบริโภคเนื้อไก่ที่เพิ่มขึ้นทั้งจากการเปิดประเทศ ทำให้บริษัทมีคำสั่งซื้อที่มากขึ้น ส่วนการที่ครม.เข้ามาช่วยเหลือด้านภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะเป็นปัจจัยหนุนให้มาร์จิ้นของบริษัทฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ เพราะอาหารเลี้ยงสัตว์มีสัดส่วนมากกว่า 50%ของต้นทุนรวมของบริษัท แต่ในระยะแรกก็ต้องยอมรับว่าบริษัทมีสต๊อกอาหารเลี้ยงสัตว์ไว้ระดับหนึ่ง เพื่อบรรเทาสถานการณ์ราคาที่ทรงตัวระดับสูงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดังนั้นมาร์จิ้นของบริษัทจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป”
@จ่อเพิ่มกำลังผลิต
ทั้งนี้ แม้บริษัทจะสามารถเดินเครื่องจักรเชิงพาณิชย์โรงงานใหม่ได้ครบทั้ง 5 ไลน์การผลิตได้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 4/2564 ที่ผ่านมา แต่จนถึง ณ ปัจจุบันบริษัทยังคงกำลังการผลิตสูงสุดได้ประมาณ 80-85% เนื่องจากการดำเนินงานภายในโรงงานยังต้องคงมาตรการเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้นหากรัฐบาลสามารถประกาศให้โควิด-19 เป็น “โรคประจำถิ่น” (Endemic) ในช่วงไตรมาส 3/2565 นี้ จะเป็นปัจจัยหนุนให้บริษัทสามารถเพิ่มกำลังการผลิตไก่ปรุงสุกแปรรูปได้เต็ม 100% เพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากทวีปยุโรป และญี่ปุ่นได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงคำสั่งซื้อในปี 2566 ด้วย
สำหรับผลการดำเนินงานทั้งปี 2565 ของบริษัทจะขยายตัวได้ดีกว่าเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา โดยจะเริ่มสะท้อนจากผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2565 ที่กำลังจะประกาศ รวมถึงจะเห็นยอดขายเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องในงวดไตรมาส 2/2565 และเข้าสู่ช่วง “High” ของการส่งออกในช่วงไตรมาส 3/2565 ต่อเนื่องไตรมาส 4/2565 ซึ่งคู่ค้าทั้งในทวีปยุโรป และญี่ปุ่นจะสั่งสินค้าเตรียมความพร้อมจำหน่ายในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง
@ไตรมาส 1 กำไรแรง
บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) คาดการณ์กำไรงวดไตรมาส 1/2565 ของ GFPT ที่ 241 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 295%เมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 1/2564 ที่ทำได้ 61 ล้านบาท (YoY) แรงหนุนจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและส่งออก ทั้งนี้คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะดีขึ้น 11.9%YoY และส่วนแบ่งกำไรบริษัทร่วมที่เพิ่มขึ้น 254%YoY อีกทั้งค่าเงินบาทอ่อนค่า เพิ่มแรงหนุนเชิงบวกจึงคงคำแนะนำ “ซื้อ”
บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) คงมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มธุรกิจของ GFPT ทั้งปี 2565 ได้แรงหนุนจากราคาไก่เนื้อในประเทศที่พุ่งสูงขึ้นและการดำเนินงานเต็มกำลังการผลิตสินค้าปรุงสุกที่ได้รับการอัพเกรดแล้ว และมีอัตราการผลิตอยู่ที่ 80% และจะปรับตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 2/2565 และ 3/2565 เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูกาลสำหรับการส่งออกและอุปสงค์อาหารสัตว์ที่ฟื้นตัวทั้งจากภาคปศุสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายที่สูงขึ้นจะกระตุ้นให้เกษตรกรเพิ่มกำลังการผลิต จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสม 15 บาท