รีเซต

สร้างพล็อต เขียนบท ให้ฮิตเหมือนซีรี่ย์เกาหลี

สร้างพล็อต เขียนบท ให้ฮิตเหมือนซีรี่ย์เกาหลี
TNN ช่อง16
12 กันยายน 2566 ( 18:04 )
75
สร้างพล็อต เขียนบท ให้ฮิตเหมือนซีรี่ย์เกาหลี

จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ไหม ถ้า........

ไม่มีใบปริญญา

ไม่รวย

ไม่เก่ง 

ไม่มีเพื่อน

ไม่มีประสบการณ์ทำงาน 

แต่มีเส้นสาย!!!!


     นี่คือการตั้งคำถามของ ซีรี่ย์เรื่อง Misaeng (Incomplete Life) - หนุ่มออฟฟิศ พิชิตฝัน ที่หลายคนคิดว่าหากมีเส้นสาย ก็น่าจะช่วยให้ไขว้คว้าโอกาสชีวิตได้ไม่ยาก แต่ซีรี่ย์เกาหลีที่ดัดแปลงจากเว็บตูนเรื่องนี้ กลับทำให้เห็นว่าเส้นสายที่ จาง กือเร ตัวเอกของเรื่องนี้ได้รับมานั้น ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตการทำงานของเขาง่ายขึ้นเลย แต่กลับเป็นภาระมากกว่า เมื่อถูกหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานเขม่นอย่างหนัก เพราะเขาเป็นคนเดียวในองค์กรระดับประเทศที่ไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัย เริ่มทำงานช้ากว่าคนรุ่นเดียวกัน พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ไม่มีทักษะการทำงาน มีเพียงความเก่งกาจเรื่องการเล่นหมากล้อม ที่เอามาใช้ไม่ได้ในที่ทำงาน เขาจึงถูกผลักออกจากกลุ่ม อ้างว้างและโดดเดี่ยว


เมื่อโปรเจคเรื่อง Misaeng ตกมาถึงมือของ ยูน จอง จอง ผู้เขียนบท เธอแทบถอดใจกับตัวละครนี้ เพราะไม่รู้ว่า “จะเอาอะไรมาประสบความสำเร็จ?” 

ซึ่งการตั้งคำถามแบบนี้ เป็นสิ่งสำคัญของการเขียนบทละคร และเป็นหลักสำคัญของการเขียน story telling

เมื่อเธอเขียนบทไปเรื่อยๆ ก็พบว่า ความบกพร่องและความไม่สมบูรณ์นี่แหละ ที่ทำให้ผู้ชมเทใจช่วย จาง กือเร ให้เขาฝ่าฟันการแข่งขันในออฟฟิศสุดหินไปให้ได้ 

นี่คือการสร้างเสน่ห์ของตัวละคร ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจการเขียนบทละครของ ยูน จอง จอง นักเขียนบทมือทองคนหนึ่งในวงการซีรี่ย์เกาหลี 


ถอดความรู้ ซี่รีย์ดัง Misaeng หาทริคเขียนบท



 

    Misaeng ถูกใช้เป็นกรณีศึกษา เมื่อเธอได้รับเชิญมาเป็นวิทยากรอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนานักเขียนบทละครโทรทัศน์ไทย โดยนักเขียนบทละครจากสาธารณรัฐเกาหลี “ Storyteller intensive program with Korean professional screenwriter 2023 ” ระหว่างวันที่ 5-6 กันยายน 66 ณ โรงแรม สวิสโซเทล กรุงเทพฯ รัชดา จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์

 

     ยูน จอง จอง อธิบายว่า ความนิยมของซีรี่ย์ Misaeng เกิดจากการสร้างอารมณ์ร่วมกับผู้ชม โดยตั้งการคำถามว่ามนุษย์กำลังสูญเสียอะไร ให้กับระบบที่เอากระดาษอย่างใบปริญญามาตีราคาผู้คน สีสันของเรื่องคือความสัมพันธ์ของมนุษย์ออฟฟิศ ที่มีทั้งความร่วมมือและห้ำหั่นกัน มีการสร้างมูลค่าให้ตัวเองโดยเหยียบย่ำคนอื่น มีเสียงหัวเราะและร้องไห้ และทุกคนไม่มีใครสมบูรณ์แบบ!

      

3 ปัจจัยความสำเร็จ ของ K Drama


    เธออธิบายว่าความสำเร็จของซีรี่ย์เกาหลี มาจากความไม่ปราณีของแฟนคลับชาวเกาหลีนั่นเอง ทำให้วงการซีรี่ย์ต้องตื่นตัวอยู่เสมอ จนเติบโตอย่างรวดเร็วไปถึงระดับโลก 



    ในอดีตซีรี่ย์เกาหลีเคยโดนสบประมาทว่าขายได้เฉพาะกับประเทศที่เป็นวัฒนธรรมตะเกียบด้วยกัน เช่น จีน ญี่ปุ่น แต่แล้ว แดจังกึม ก็สร้างปรากฏการณ์ความดังระดับสากล จากนั้นก็มีอีกหลายเรื่องตามมา เช่น Squid Game 

     อะไรทำให้ K Drama ไปไกลระดับโลก?

     Media Trust ได้ร่วมรวมปัจจัยความสำเร็จของ K Drama ตามความเห็นของคุณ ยุน จอง จอง มาฝากกัน 

      มีความหลากหลาย แปลกใหม่เสมอ ถ้าคุณเป็นแฟนดอมซีรี่ย์เกาหลี คงติดหนึบกับภาวะคาดเดาไม่ได้ของเนื้อเรื่อง ที่มีความเป็นสากลแต่ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของ K Drama ไว้ได้ ทั้งหมดมาจากการมีทีมเบื้องหลัง ทำหน้าที่ศึกษาวิจัยกระแสความสนใจของผู้ชมตลอดเวลา เพื่อนำมาสร้างเป็นบทละคร 

     สร้างอารมณ์ร่วมกับผู้ชม หรือ emotion โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นกลุ่มผู้ชมหลักของ K Drama ที่มักมีชีวิตจริงที่อ่อนแอ ในซีรี่ย์จึงเพิ่มโรแมนซ์ติกแฟนตาซี เพิ่มความฉลาดให้ผู้หญิง มีเรื่องราวการได้พบรักกับชายสูงศักดิ์ และปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพิ่มความแข่งแกร่งให้บทบาทของผู้หญิงมากขึ้น มีความเป็นสากลที่ผู้หญิงเข้าใจกันได้ทั่วโลก 

     มุ่งเน้นตัวละคร หัวใจของ K Drama คือการสะท้อนชีวิตของผู้คน เช่น ซีรี่ย์ที่ประสบความสำเร็จสูงอย่าง Hometown cha cha cha ได้รวมตัวละครที่มีความแตกต่างเอา ไว้อย่างมีเสน่ห์และสมดุล ซีรี่ย์บางเรื่องผูกปมความรักต่างชนชั้น ที่พระ-นางต้องฝ่าฝันอุปสรรคจนความรักลงตัว ขณะที่บางเรื่องมีตัวร้ายที่ชั่วร้ายมากๆ สะท้อนสังคมทุนนิยมที่ขูดรีดชีวิตเลือดเนื้อประชาชน เช่น Itawon class เพื่อฝ่ายธรรมะหาวิธีเอาชนะให้ได้

     เธอให้ความสำคัญกับตัวละครมากๆ ถึงขั้นต้องมีลิ้นชักที่เก็บคาแรกเตอร์ตัวละครไว้เยอะๆ  เพื่อรอวันสุกงอม แล้วเอามาใช้ 



ยูน จอง จอง นักเขียนบทมือทองคนหนึ่งในวงการซีรี่ย์เกาหลี



ทุกวันนี้วงการนักแสดงของเกาหลีอยู่ในภาวะสงคราม การแข่งขันสูง ทุกโปรเจคต้องเฟ้นหานักแสดงที่คุ้มค่าต้นทุน 

    นอกจากนี้เธอยังมีเทคนิคการดำเนินเรื่องเพื่อสร้างอรรถรสแก่ผู้ชม โดยการสร้างบทเปิดเรื่อง(Introduction) ให้ดึงดูดใจ  สร้างสถานการณ์และปมขัดแย้ง  เพื่อให้ตัวละครผ่านบททดสอบของแต่ละสถานการณ์ และฝ่าฟันปมในจิตใจของตนเองไปได้ สร้างอารมณ์ร่วมและความสงสัยกับผู้ชม ให้เอาใจช่วยตัวละครผ่านบททดสอบที่คาดเดาไม่ได้ แต่สอดคล้องกับความเป็นจริง 

     กลยุทธ์อีกอย่างก็คือ การสร้างสถานการณ์ (Scenario) โดยสถานการณ์ต่างๆ ต้องไม่ง่าย มีขวากหนามและซับซ้อน เช่น คนทรงเจ้าหลอกลวงคนอื่นโดยมีเป้าหมายจริงๆ เพื่อแก้แค้น และใส่อารมณ์ของตัวละคร เช่น ล้มแล้วลุกขึ้นสู้ เป็นต้น 

     ทั้งนี้ การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนานักเขียนบทละครโทรทัศน์ไทยครั้งนี้ มีนักเขียนบทละครมืออาชีพของไทยเข้าร่วมมากมาย เพื่อรับฟังการบรรยายจาก 3 นักเขียนบทละครจากสาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่

• คุณ Yoonjung Jung ( Misaeng )

• คุณ Hyejin Park ( Café MINAMDANG )

• คุณ Jaeeun Kim ( Iris / Bad Guy / Iris for Movie )



 

3 นักเขียนบทละครจากสาธารณรัฐเกาหลี


สร้างคนป้อนระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และคุณคฑาหัสต์ บุษปะเกศ นายกสมาคมนักเขียนบทโทรทัศน์  ได้ตอกย้ำถึงที่มาของความร่วมมือและความสำเร็จ ในการออกแบบหลักสูตรที่เข้มข้นมาต่อเนื่องหลายปี เพื่อต่อยอดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อที่ปลอดภัยและพัฒนาการสร้างสรรค์บทละครโทรทัศน์ของไทย ให้มีวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ  โดดเด่น กระตุ้นการติดตามจากผู้ชม 

     ซึ่งการฝึกอบรมในแต่ละปีสามารถเพิ่มจำนวนนักเขียนบทละครโทรทัศน์ที่มีความรู้ความเข้าใจทักษะการเขียนบท สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของกองทุนฯ ในปีนี้ ที่มุ่งเน้นการยกระดับการผลิตละครไทยให้มีความเป็นสากล ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเล่าเรื่อง และการเขียนบทละครโทรทัศน์ที่เป็น

ประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม มีเนื้อหาปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีศิลปะของการเล่าเรื่อง (Storytelling)  ในมิติที่แปลกใหม่ 


 

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


ดร.ธนกร กล่าวว่า เราสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตในประเทศไทย ซึ่งมีหลายโครงการที่จะดำเนินการ สำหรับโครงการในวันนี้ตั้งเป้าผลิตนักเขียนหน้าใหม่ปีละ 25 คน และจะผลักดันให้เกิดผลงานจริงๆ ปีละ 5 คน และเพิ่มเป็น 10-15 คนไปเรื่อย ๆ เราต้องการให้คนสามารถทำสื่อเป็นอาชีพได้ มีการต่อยอดเป็นหนังสั้น เป็นต้น

“เกาหลีมีการวางพล็อตเรื่องแบบเดายากมาก หักมุมแบบไม่น่าเชื่อ ซึ่งเขาเก่งมาก จริงๆ คนไทยก็ทำได้ แต่อาจต้องการทริคบางอย่าง ที่ต้องการการเรียนรู้จากต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ถือเป็นทางลัด ไม่สามารถก็อปปี้ได้แต่เรียนรู้ได้” ดร.ธนกร กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง