รีเซต

ถอดโมเดล Soft Power จาก Korean Wave สู่ Thai Wave

ถอดโมเดล Soft Power จาก Korean Wave สู่ Thai Wave
TNN ช่อง16
5 พฤศจิกายน 2566 ( 19:07 )
67

แม้จะเป็นเรื่องแต่งขึ้นใหม่แต่ก็มีเค้าโครงของความจริง เพราะความยิ่งใหญ่ของธุรกิจคอนเทนต์โดยเฉพาะซีรี่ย์เกาหลีในปัจจุบันที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 7 ของโลก มีจุดเริ่มต้นมาจากวิกฤต IMF ในปี 1997


     ความสำเร็จของ Soft Power เกาหลีใต้ที่มาจากวิกฤต IMF นี้ เป็นเนื้อหาการบรรยายของผู้เชี่ยวชาญจากเกาหลีใต้ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้หน่วยงานของไทยที่ต้องการที่ผลักดันเรื่อง Soft Power จากงานสัมมนา Korean-Thai Soft Power Exchange Day 2023 ในหัวข้อ “ซอฟต์พาวเวอร์กับอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ระหว่างประเทศเกาหลีและประเทศไทย” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อในวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา  โดยศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศไทย (KCC) และหน่วยงานส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ของรัฐบาลเกาหลีใต้อย่าง Korea Creative Content Agency (KOCCA) ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (TMF), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) 


Korean Wave สะเทือนโลก 

     คุณ CHO JAE-IL ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีประจำประเทศไทย บรรยายในหัวข้อ The Soft Power of The Republic of Korea ย้อนความให้ฟังว่า 

     “โคเรียนเวฟ ( Korean Wave) เริ่มต้นขึ้นในปี 1997 หลังวิกฤต IMF ซึ่งเป็นยุคเสรีนิยมเบ่งบานในเกาหลี ใต้ เราตระหนักได้ว่าวัฒนธรรมเป็นสินค้าส่งออกได้ จึงเริ่มใช้กลยุทธ์ Soft Power โดยบุกเบิกด้วยซีรี่ย์ดังอย่าง “แดจังกึม” และขยายไปสู่การสร้างกระแสวงการเพลง K-POP ที่โด่งดังมากมาย เช่น  “กังนัมสไตล์” ซึ่งได้ความนิยมทั้งจากในประเทศ และส่งออกไปญี่ปุ่น ขยายไปถึงอเมริกา ยุโรป”

     เขากล่าวว่า มีเดียแพลตฟอร์มที่ช่วยกระจายวัฒนธรรมเกาหลีได้อย่างรวดเร็วและกว้างไกลก็คือ ยูทูป ที่ทำให้โลกไร้พรมแดน ไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติทุกอย่างเข้าถึงได้ง่าย 

     ยิ่งในปี 2000 ที่มีการพัฒนาอุปกรณ์ (device) อย่างก้าวกระโดด ทุกอย่างถูกผลิตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีแพลตฟอร์มเกิดใหม่มากมาย ทำให้ขยายกลุ่มเป้าหมายไปไกลกว่ากลุ่มวัยรุ่น มูลค่าการค้าเติบโตจาก 106 ล้านล้านวอน ในปี 2016 เป็น 137 ล้านล้านวอน ในปี 2021 รัฐบาลเกาหลีจึงให้ความสำคัญกับผลิตผลนี้มาก 


กองทุนสื่อฯ เผยผู้ขอทุนเสนอโครงการ Soft Power พุ่งอันดับ 1 วงเงิน 2,000 ล้าน

     ดร.ธนกร  ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ บรรยายในหัวข้อ Roles of Thai Media Fund in supporting Thailand's Soft Power through media promotion กล่าวว่า กองทุนสื่อฯ ได้รับแรงบันดาลใจจากความสำเร็จของ โคเรียนเวฟ  โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้วเริ่มศึกษาเรื่อง Soft Power เพื่อทำให้วัฒนธรรมเป็นสินค้าและมีการลงนามความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์  Arirang TV เพื่อพัฒนาคอนเทนต์ของไทย โดยมีการอบรมหลักสูตรระยะสั้น เชิญนักเขียนบทละครจากเกาหลีใต้มาอบรมให้นักเขียนบทไทย      นอกจากนี้ ประเทศไทยมีต้นทุนด้านวัฒนธรรมมากมาย ทั้งอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และกองทุนฯ ได้กำหนดให้ Soft Power เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของในการเปิดรับเสนอโครงการให้ทุนประจำปีนี้ด้วย โดยมีผู้ให้ความสนใจยื่นขอทุนด้าน Soft Power มาเป็นอันดับหนึ่ง วงเงินรวมประมาณ 2,000 ล้านบาท สะท้อนว่า Soft power เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้ผลิตสื่ออย่างมาก และรัฐบาลไทยกำลังจัดตั้งคณะทำงาน THACCA เพื่อส่งเสริม Soft Power โดยมีแผนทำโมเดลธุรกิจให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาลงทุนในธุรกิจสื่อ เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน 


     “ขณะนี้กองทุนฯ เตรียมทำวิจัยว่าสื่อของไทยแบบไหนที่ต่างชาติชอบหรือไม่ชอบ เพื่อนำผลลัพธ์มาเป็นข้อมูลในการพัฒนาคอนเทนต์ และทำแผนส่งเสริมการจับคู่ธุรกิจระหว่างไทย-เกาหลีด้วย”     ดร.ธนกร ระบุ

KOCCA หนุนความร่วมมือกองทุนสื่อฯ


     PARK WOONG-JIN ผู้อำนวยการศูนย์ KOCCA Thailand บรรยายในหัวข้อ How to Expand Soft Power Exchanges between Korea and Thailand ตอกย้ำว่า      หน่วยงาน KOCCA ของเกาหลีใต้ มีการดูแลงานสินค้าคอนเทนต์ทั้ง 8 ด้านแบบรวมศูนย์ให้เป็น one stop service เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม Soft Power 


     “เป้าหมายของเราคือเป็นผู้นำนวัตกรรมสร้างสรรค์ มีสาขาในต่างประเทศ 15 แห่ง สาขาล่าสุดคือที่ประเทศไทย โดย KOCCA Thailand มีบทบาทการส่งเสริมความร่วมมืออย่างเข้มข้น โดยลงนามความร่วมมือกับกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และพร้อมเคียงข้างผลักดัน Soft Power ของไทยให้ประสบความสำเร็จ มีการจัดเวิร์คชอปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเขียนบทละคร มีการร่วมผลิตผลงาน เช่น โคเรียน-ไทย เอนิเมชั่น โดยจะใช้เงินทุนจากเกาหลีและความคิดสร้างสรรค์ของไทย เป้าหมายต่อไปคือการดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน” 


     เขาย้ำว่าความร่วมมือทั้งหมดจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นทางการลงทุนด้าน Soft Power ของไทยซึ่งเป็นพันธมิตรที่ดี และชาวไทยให้ความสนใจเนื้อหา K Culture มากมาย โดยสินค้าวัฒนธรรมของเกาหลีมีมูลค่า 3 ล้านล้านวอน หรือคิดเป็น 2.5% ของ GDP ประเทศไทย นอกจากความสำเร็จของมูลค่าการค้าแล้ว เขาหวังว่าความร่วมมือนี้จะช่วยปรับทัศนคติลดการเหยียดด้านวัฒนธรรมได้ และทางเกาหลียินดีที่จะเปิดรับผลงานที่น่าสนใจของไทยเสมอ และทิ้งท้ายโดยขอเชิญผู้ประกอบการของไทยไปร่วมงาน งาน K-Expo Thailand 2023 วันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


CEA- DEPA ร่วมขับเคลื่อน Soft Power 

      ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) บรรยายในหัวข้อ Thailand's Creative Economy and Its Contribution to Soft Power ให้ข้อมูลว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือการใช้ต้นทุนวัฒนธรรมและทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อสร้างมูลค่า ที่ผ่านมาองค์การยูเนสโกประกาศให้เมืองไทยมีเมืองสร้างสรรค์ถึง 7 แห่ง แปลว่า ไทยมีความสร้างสรรค์ด้านเมืองมากมาย มีมูลค่าของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีมูลค่าถึง 1.1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 6.81%ของ GDP 


     ปัจจุบัน CEA ได้สนับสนุนการวิจัยด้านการถ่ายทำภาพยนตร์ที่จะใช้ระบบ CEA Visual Media Lab เข้ามารองรับการถ่ายทำในอนาคต และยังมีโครงการ Content Lab เพื่อทำความเข้าใจการตลาดด้านคอนเทนต์อย่างแท้จริง สร้างบุคลากรในวงการอุตสาหกรรม เช่น นักเขียนบท ผู้ผลิต ป้อนให้ผู้ผลิตเจ้าใหญ่ ดังนั้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงเป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power ซึ่ง Soft Power เป้าหมายของ Thailand Creative Content Agency หรือ THACCA มีอยู่ 11 ด้าน ได้แก่ ภาพยนตร์ ศิลปะ หนังสือ อาหาร เพลง งานเทศกาล, การท่องเที่ยว, กีฬา โดยเฉพาะมวยไทย , การออกแบบ โดยเฉพาะกรุงเทพที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งดีไซน์ , แฟชั่น และเกมส์


     ดร.สักกเวท ยอแสง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ซึ่งบรรยายหัวข้อ The Role of Digital Technology in Strengthening Thailand's Soft Power อธิบายว่าที่ผ่านมา DEPA  ได้ร่วมลงทุนกับ start up เช่น แอพพลิเคชั่นจองเรือ จองนวดสปา และจองโรงแรม มีแอพสั่งอาหารข้ามพื้นที่อย่าง Pok Pok  และยังเป็นแหล่งองค์ความรู้ด้าน Soft Power มีการพัฒนาหลักสูตรการสร้างอินฟลูเอนเซอร์และผู้ผลิตเกมส์ มีการร่วมลงทุนกับบริษัทผู้ผลิตเกมส์ระดับโลกและระดับประเทศ และผลงานโดดเด่นที่ผ่านมาก็คือเป็นผู้จัดงานไทยแลนด์พาวิลเลียนที่ประเทศดูไบ ซึ่งได้รับความสนใจและได้รับรางวัลระดับโลก


จับตานโยบาย Soft Power สร้าง Thai Wave

     งานสัมมนา Korean-Thai Soft Power Exchange Day 2023 ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่แสดงถึงความร่วมมือในการขับเคลื่อน Soft Power ซึ่งประเทศไทยกำลังปรับประยุกต์โมเดลความสำเร็จของเกาหลีขณะเดียวกัน เกาหลีก็คงจะต้องเร่งพัฒนาขยายผลความสำเร็จของตนเองในฐานะผู้นำให้ก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไปอีก โดยล่าสุดมีการจัดงาน K-Expo Thailand 2023 ระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งมีการรวบรวมผู้ผลิตสื่อและผู้ประกอบการอุตสาหกรรม K-Content จากเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็น K-Pop, K-Drama, K-Music, K-Animation, K- Cyber, K-Culture รวมไปถึง Brand K อื่น ๆ อีกมากมาย มาแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งองค์ความรู้ตลอดจนเจรจาทางธุรกิจกันอย่างเต็มที่


    นอกจากนี้ยังมีคอนเสิร์ต K-Pop และ T-Pop จากเหล่าศิลปินชื่อดัง อาทิ Gulf Kanawut Traipipattanapong, KEY (SHINee), ONF, PROXIE, BERRY BERRY และกิจกรรม Meet & Greet ศิลปิน T-POP ที่ Thai Pavilion อาทิ 7 Moment, PiXXiE K-POP Cover Dance ที่จะมาสร้างความคึกคัก

    Korean Wave สร้างความสั่นสะเทือนต่ออุตสาหกรรม Content ระดับโลก จนชาติตะวันตกก็จำเป็นต้องเร่งการพัฒนาต่อเนื่องเพื่อชิงความเป็นเจ้าตลาด  ขณะที่ประเทศไทยเราก็คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นโยบาย Soft Power ของรัฐบาลปัจจุบันจะเป็น Thai Wave ที่สร้างความสะเทือนในอุตสาหกรรม Content เช่นเดียวกัน



ข่าวที่เกี่ยวข้อง