รีเซต

ผู้จัดกองทุนสื่อฯ ฉายภาพสถานการณ์สื่อเพื่อการรู้เท่าทันสื่อ

ผู้จัดกองทุนสื่อฯ ฉายภาพสถานการณ์สื่อเพื่อการรู้เท่าทันสื่อ
TNN ช่อง16
13 กุมภาพันธ์ 2567 ( 22:34 )
54
ผู้จัดกองทุนสื่อฯ ฉายภาพสถานการณ์สื่อเพื่อการรู้เท่าทันสื่อ

โมเดลการก่อตั้ง CLEMI  เมื่อ พ.ศ. 2526 คือ การอบรมครูให้มีความรู้ในเรื่องระบบสื่อสารมวลชนเพื่อสร้างทักษะให้กับเยาวชนโดยส่งเสริมสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ และส่งเสริมความคิดอย่างมีวิจารณญาณ ต่อสื่อและข้อมูลสารสนเทศต่างๆ 


ขณะที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แต่ก็มี Pain Point เรื่องขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในทักษะรู้เท่าทันสื่อ ดังนั้นการออกแบบหลักสูตร Media Literacy Expert (MeLEx) เพื่ออบรมสร้าง ผู้เชี่ยวชาญ และส่งเสริมให้คนเหล่านี้ออกไปสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญเพื่อขับเคลื่อนการสร้างทักษะรู้เท่าทันสื่อให้กับพลเมือง จึงเป็นการทำงานที่พยายามทะลุ ทะลวง ข้อจำกัด ที่น่าสนใจ


การสร้างทักษะรู้เท่าทันสื่อ จะประสบความสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ ทักษะต้องมีลักษณะที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์สื่อที่เปลี่ยนไป 


เมื่อโจทย์สำคัญอยู่ที่ สถานการณ์สื่อตอนนี้เป็นอย่างไร การฉายภาพสถานการณ์สื่อ ของ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ในเวที อบรมต้นแบบเครือข่าย MeLEx  เมื่อวันที่ 27 มกราคม น่าจะให้คำตอบได้ดี 



ภารกิจสร้างภูมิคุ้มกัน

ดร.ธนกร เริ่มการฉายภาพด้วยการเล่าถึงบทบาทภารกิจของกองทุนสื่อฯ ว่า กองทุนสื่อฯเป็นองค์การมหาชน หรือเป็นหน่วยงานรัฐซึ่งมีบทบาทหลักเรื่องการส่งเสริมสนับสนุน  ไม่ใช่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย แม้กระทั่งในประโยคบางประโยคที่เกี่ยวกับกองทุนสื่อฯ เช่น การเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ก็ไม่ใช่เฝ้าเพื่อจะไปบังคับใช้กฎหมาย แต่เฝ้าระวังเพื่อมาแจ้งเตือนสังคมให้รับรู้รับทราบว่า มีอะไรที่สังคมจะต้องตระหนักและต้องรู้บ้าง กองทุนสื่อมี 3 ภารกิจ และมี 5 ยุทธศาสตร์ แต่โดยเป้าหมายปลายทาง คือ ต้องการเห็นสังคมที่มีระบบนิเวศสื่อหรือสภาพแวดล้อมของสื่อที่ดีที่สุด แปลว่า ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ หรือสื่อเชิงลบ สื่อที่ไม่ดี ไม่ควรจะมีมากเกินไป หรือต่อให้มีมากขนาดไหน คนในสังคมก็สามารถที่จะบริหารจัดการได้ 


“บางทีเราอาจจะไม่สามารถขจัดกองขยะที่มีแมลงวันตอมเต็มไปหมด แต่เราจำเป็นต้องเดินผ่านมันไปให้ได้ การมีทักษะรู้เท่าทันสื่อก็เหมือนกับการที่เรารู้จักที่จะหาหน้ากากมาสวม หรือถ้ามันหนักมากๆ ก็อาจจะต้องใส่เสื้อคลุมด้วยซ้ำ ไม่ง่ายเลยในการขจัดสื่อที่เป็นสื่อเชิงลบ และสื่อเชิงลบมันแพร่กระจายเร็ว มันตอบโจทย์กิเลสตัณหามนุษย์ได้มากกว่าสื่อเชิงบวก การทำสื่อที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น กระตุ้นความเกลียดชัง ไปเร็วมาก ขณะเดียวกันสื่อที่ดีๆ ดูแล้วรักตัวเอง อยากทำตัวเองให้ดี อยากทำอะไรที่สร้างแรงบันดาลใจ หนังดีๆ ก็มี แต่สู้กับด้านลบแล้วยังสู้ค่อนข้างยาก ก็เป็นภารกิจที่เราต้องทำให้คนในสังคมมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นภารกิจหลักของกองทุนสื่อฯ เลย เรื่องรู้เท่าทันสื่อเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก” 


ดร.ธนกร กล่าวว่า กองทุนสื่อฯ ส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกคนสามารถสร้างสื่อดีๆ ขึ้นมาด้วย ถ้าใครติดตามกองทุนสื่อฯ จะเห็นว่ามีหลักสูตร Content Creator เยอะมาก เริ่มตั้งแต่คนไม่รู้อะไรเลย หลักสูตรผู้ผลิตสื่อระดับต้น พัฒนามาเป็นระดับกลาง ตอนนี้กำลังทำหลักสูตรระดับสูง เพราะฉะนั้นในวันที่ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ ก็มุ่งมั่นว่าวันหนึ่งจะมีบุคลากรที่เป็นคนเล็กคนน้อย คนธรรมดา องค์กรชุมชนสามารถสร้างคอนเทนต์ด้วยตัวเองและสามารถผลักดันคอนเทนต์ไปสู่พื้นที่ของโลกดิจิตอลที่จะทำให้เกิดความสมดุล เป็นระบบนิเวศสื่อ สื่อที่ไม่ดีก็จะถูกถ่วงดุลจากสื่อที่ดี สื่อที่ไม่ดีก็จะถูกบริหารจัดการจากทักษะที่รู้เท่าทันสื่อ 


“งานทุกอย่างจำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมโยง ความร่วมมือกันระหว่างฝ่ายต่างๆ จริงๆ งานของกองทุนสื่อฯ เป็นกิจกรรมในการขับเคลื่อนและรณรงค์ทางสังคม เพราะฉะนั้นถ้าคิดแบบรัฐจะทำไม่ได้เลย จะบังคับใช้กฎหมายหรือเอาอำนาจหน้าที่ไปทำจะทำไม่ได้เลย เพราะงานที่เกี่ยวกับการทำในสิ่งที่กระทบต่อความคิดความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม จิตสำนึก และนำไปสู่พฤติกรรม กฎหมายก็บังคับไม่ได้ ใช้กำลังบังคับก็ไม่ได้ แต่ถ้ามีเรื่องราวดีๆ หรือมีคอนเทนต์ดีๆ ในรูปแบบสื่อต่างๆ คนจะรู้สึกไม่ดูไม่ได้ แล้วมันเกิดการตื่นตัวจากระดับประเทศไประดับโลก เกิดเป็นพลังที่ไม่มีการบังคับเรา แต่เรารู้สึกว่าเราต้องเป็นส่วนหนึ่งตรงนั้น เกิดพลังที่เรียกว่า Soft Power” 


ดร.ธนกร กล่าวถึง Soft Power ว่า จะต้องใช้เครื่องมือที่สำคัญที่สุดคือสื่อ Soft Power ไม่มีทางเกิดได้เลย ถ้าไม่มีสื่อเป็นเครื่องมือในการสร้าง เพราะเป็นพลังที่ทำให้คนเชื่อหรือไม่เชื่อ ชอบทำตามโดยไม่ต้องมีใครบอก จริงๆ หลายอย่างก็ใช้ Soft Power อย่าง Brandname ทั้งหลาย เราไม่ได้ซื้อสินค้าเพราะเรา need เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ แต่เราต้องการ คือ want แบบของมันต้องมี พวกนี้ใช้สื่อทั้งนั้น วิธีการซื้อง่ายๆ จะดูธรรมดาไป ต้องทำให้ซื้อยากๆ ต้องลงทะเบียน ต้องทำอะไรก่อน จะซื้อนาฬิกาหรูๆ คุณเป็นใคร จะซื้อได้จะต้องเคยซื้อของเขามาก่อน นี่คือ Soft Power 


ถึงเวลาที่ประเทศต้องสร้าง MeLEx  


“เราต้องการสร้างระบบนิเวศสื่อที่ดี ซึ่งต้องมีเครือข่าย และเครือข่ายนี้ไม่ได้ทำงานแบบรัฐ ต้องเป็นการทำงานแบบภาคประชาสังคม และทุกคนต้องช่วยกัน ลำพังกองทุนสื่อฯ เองไม่มีทางทำได้ แต่กองทุนสื่อฯ สามารถบริหารจัดการ เป็นจุดตั้งต้น เป็นเจ้าภาพในหลายๆ เรื่องได้ และสร้างกระบวนการนี้ขึ้นมา แต่มันจะเดินไปได้ เติบโตได้ และเกิดความยั่งยืน พวกเราต้องช่วยกัน”



ดร.ธนกร กล่าวว่า ทำไมอยากเห็นผู้เชี่ยวชาญ หรือ expert  หลายประเทศในโลกนี้ให้ความสำคัญกับ media literacy เดี๋ยวนี้ใช้คำว่า Media Information Digital Literacy เป็น  MIDL เพราะเราอยู่ในโลกดิจิทัล เมื่อครั้งไปดูงานต้นแบบที่ประเทศแคนาดา ซึ่งมีหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อตั้งแต่ระดับประถม มัธยม มหาวิทยาลัย และสำหรับประชาชนทั่วไป ก็ได้คุยกับกระทรวงศึกษาฯ ประเทศไทยว่า น่าจะทำเป็นหลักสูตร แต่ก็เข้าใจกระทรวงศึกษาฯ ว่าตอนนี้วิชาบังคับเยอะมาก ก็ปล่อยให้เป็นอิสระของแต่ละโรงเรียน ใครอยากจะสอนก็สอน ไม่อยากกำหนดเป็นวิชาบังคับ ในมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องสื่อสารมวลชน นิเทศศาสตร์ ตอนนี้ก็มีหลายมหาวิทยาลัยซึ่งทำงานร่วมกับกองทุนสื่อฯ มีการสอนเรื่อง MIDL อย่างเข้มแข็งมาก นี่ก็เป็นเครือข่ายหนึ่งของกองทุนสื่อฯ 


“อย่างที่ฝรั่งเศสก็มี 2 หน่วยงานที่น่าสนใจมาก คือ หน่วยงาน Clemi ซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ มีงบประมาณจากรัฐ ทำหน้าที่คล้ายกองทุนสื่อฯ คือ อบรมผู้เชี่ยวชาญ เหมือนครูอาสา สอนเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ หรือ MIDL และไปขึ้นทะเบียนไว้ ทางโรงเรียนก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องเรียน MIDL ขึ้นอยู่กับทางโรงเรียนตัดสินใจเอง ถ้าคุณอยากจะสอนก็เชิญคนที่ขึ้นทะเบียนไว้ไปสอน เราก็จะเอาโมเดลนี้มาออกแบบ


อีกหน่วยงานหนึ่งคือ AFP เป็นสื่อที่รัฐถือหุ้นใหญ่แต่บริหารแบบอิสระ มีสาขาอยู่ทั่วโลก ปัจจุบัน AFP ทำภารกิจอันหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Fact Checking หรือสร้าง Fact Checker โดยพัฒนาหลักสูตรอบรมในการตรวจสอบ ข่าวลวง ข่าวปลอม ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยใช้กัน จะใช้การบิดเบือนข้อมูล ซึ่งในระดับต้น เป็น Misinformation หนักขึ้นมาหน่อยก็เป็น Disinformation หนักกว่านั้นก็เป็น Malinformation” 



ดร.ธนกร กล่าวว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องสร้างผู้เชี่ยวชาญขึ้นมา สิ่งแรกที่จะต้องทำความเข้าใจคือ ถ้าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้เท่าทันสื่อ ทุกคนต้องเชื่อก่อนว่าสื่อมีผลกระทบต่อชีวิตของทุกคน ทั้งทางบวกและทางลบ เราใช้เวลาอยู่กับหน้าจอของโทรศัพท์มือถือเฉลี่ย ตั้งแต่ 5 ชั่วโมงขึ้นไป ไปถึง 10-11 ชั่วโมงต่อวัน และข้อมูลข่าวสารที่แพร่ไป เกิน 60% เป็น Disinformation เป็นเรื่องที่เราต้องตระหนัก 


สถานการณ์สื่อยุคดิจิตอล


“เดี๋ยวนี้เด็กเรียนรู้โลกผ่าน social media เป็นหลัก เราจะเห็นว่าทัศนคติ มุมมองต่อสังคมระหว่างเจนแต่ละเจนมีความแตกต่างกันมาก บางครั้งความรู้แต่ละยุค แต่ละเจนเชื่อ มันไปกันไม่ได้เลย ก็เลย disrupt อีกเรื่องหนึ่งคือ knowledge เอง ก็ถูก disrupt ความรู้เก่าหลายอย่างถูกทำให้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกเชื่ออีกต่อไปในคนรุ่นใหม่ พูดภาษาวิชาการ คือ ตัว paradigm มันถูกแทนที่ด้วย new paradigm กระบวนการคิด เบื้องหลังที่มามาจากสังคมออนไลน์ มาจากสื่อทั้งสิ้น ถ้าพวกเราไม่เชื่อว่าสื่อมีอิทธิพลก็มาผิดหลักสูตรแล้ว เพราะฉะนั้นคุณต้องเชื่อก่อนว่าสื่อมีอิทธิพลทั้งทางบวกและทางลบ สื่อมันโปรแกรมความคิดความเชื่ออยู่ตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้ตัว เมื่อก่อนจะบอกว่าความคิดความเชื่อมาจากครอบครัว มาจากการศึกษา เดี๋ยวนี้อาจจะไม่ใช่ เดี๋ยวนี้อาจจะมาจากสื่อที่เราเปิดรับ สอง ต้องเชื่อว่าสื่อดีสร้างได้ สื่อร้ายก็จัดการได้ และต้องเชื่อข้อที่สามอีกว่า เราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องร่วมมือกันทำงาน ต้องเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ต้องเอาความเก่ง จุดแข็งของแต่ละคนมาเชื่อมโยงกัน”


ดร.ธนกร กล่าวว่า สถานการณ์สื่อ 3-4 ปีก่อนนี้ ในกลุ่มเด็กจะมีปัญหาเรื่อง bully เรื่อง cyber bully ซึ่งมีผลกระทบแรงมาก กองทุนสื่อฯ ก็จะทำเรื่อง fake news, hate speech และ bully ซึ่งก็ไม่ได้หายไป แต่มา 2-3 ปีหลัง หลังโควิดมา เรื่อง scam มาเป็นอันดับ 1 ซึ่งมีเบื้องหลังเป็นเงิน ผลประโยชน์ทางธุรกิจ ในขณะที่ hate speech มีปัจจัยเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก ความกดดันของคนในสังคม หรือเบื้องหลังทางการเมือง ก็ใช้ภาษามาห้ำหั่นทำร้ายกัน  


เรื่องข้อมูลข่าวสารเชิงลบ ในระดับนานาชาติ หลายประเทศให้ความสนใจกับเรื่องแนวคิดสุดโต่ง แต่ประเทศไทยพูดถึงเรื่องนี้น้อยมาก แนวคิดสุดโต่งมันนำไปสู่ความรุนแรง บางทีก็มีหลักคิดทางการเมือง หรือความเชื่อทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง บางประเทศใช้หัวข้อ violence exinism เป็นหนึ่งในหัวข้อที่จะต้องรู้เท่าทันสื่อเหมือนกัน แต่เราอาจจะไม่แตะมากในเรื่องแนวคิดสุดโต่ง แต่อยากให้ผู้เชี่ยวชาญรู้จัก ทำความเข้าใจ อย่างเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวที่ตายไป 11-12 ล้านคน ด้วยแนวคิดว่าคนพวกนี้ไม่ใช่พวกเดียวกับเรา และเป็นภัยคุกคาม เลยอยากจะฝากเรื่องแนวคิดสุดโต่งไว้ด้วย


ดร.ธนกร กล่าวว่า ภัยคุกคามมากตอนนี้คือ scam ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะโดน scam หมด บางคนไม่ใช่ไม่รู้ แต่ก็โดนหลอกได้ เพราะมาในรูปแบบที่เนียนมาก บางคนอาศัยความใจดี ใจบุญ แรกๆ เรื่องความกลัวแล้วโดนหลอกมีเยอะมาก อะไรที่ทำให้กลัวในโลกออนไลน์ อย่าไปกลัวก่อน ความเสียหายบางเคสร้อยกว่าล้านที่โดนขู่เรื่องเลี่ยงภาษี โดนสวมรอยและถูกหลอก อันที่สอง romance scam ก็ไม่น้อย บางคนทำงานเก่ง แต่มีความเหงา ก็มีคนมาจีบทางออนไลน์ ก็โดนหลอกอีก เรื่องความอยากรู้อยากเห็นก็ต้องระวังเรื่องการแชร์ link เรื่องความอยากมีอยากได้ พวกขายของไม่ตรงปก หลอกลงทุน ก็เป็นช่องทางของมิจฉาชีพ เรื่องอื่นๆ ก็มีหลายวิธีการเพราะเราขาดสติ หรือยังไม่ทันตั้งตัว ไปจนถึงการอัดเสียงเราแล้วใช้ Ai มาซ้อนภาพปลอมตัวเป็นเราอีก มีความซับซ้อนมากขึ้น 


“อยากย้ำว่าหลักสูตรนี้มีความหมายกับทุกคน มีความหมายกับกองทุนสื่อฯ มาก กองทุนสื่อฯ ทำเรื่อง Media Literacy อย่างจริงจัง และในแง่ของการเป็นผู้ให้ความรู้ ผู้ถ่ายทอด ทุกท่านที่อยู่ในห้องนี้ เป็น expert เป็นผู้เชี่ยวชาญ สิ่งที่ได้จากหลักสูตรนี้ ขอให้คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้น เป็นพื้นฐานของการเป็นผู้เชี่ยวชาญ ความรู้ต่างๆ ประสบการณ์ กรณีตัวอย่าง เราต้องเพิ่มเติม ซึ่งกองทุนสื่อฯ จะช่วยสนับสนุน 


เราอยากเห็นแกนนำผู้เชี่ยวชาญมีทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด เวลาไปทำกิจกรรมออนไซต์กับเด็กนักเรียนจะได้ไม่ต้องเดินทางไกล วันนี้ดีใจที่มีผู้เชี่ยวชาญที่สมัครเข้ามาจากทุกภาคของประเทศ ขอให้ท่านเตรียมตัวว่าถ้าจะต้องไปขยายเครือข่ายของท่านจะต้องมีวิธีการทำงานอย่างไร กองทุนสื่อฯ ยินดีที่จะสนับสนุน อาจจะรวมตัวกันแบบหลวมๆ เป็นชมรม แล้วกองทุนสื่อฯ ก็จะหากิจกรรมที่ต่อเนื่อง และนอกจากเราทำเรื่อง Media Literacy เราก็ทำ Content Creator ไปพร้อมๆ กัน” 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง