รีเซต

เป็น “เจ้าภาพโอลิมปิก” ช่วยให้ประเทศรวยขึ้นหรือขาดทุนและเสี่ยงเป็นหนี้ ? | Exclusive

เป็น “เจ้าภาพโอลิมปิก” ช่วยให้ประเทศรวยขึ้นหรือขาดทุนและเสี่ยงเป็นหนี้ ? | Exclusive
TNN ช่อง16
31 กรกฎาคม 2567 ( 14:54 )
20

เมื่อกล่าวถึงข้อดีของการเป็นเจ้าภาพมหกรรมโอลิมปิก ในความเห็นของคนทั่วไปอาจมองว่ามหกรรมกีฬาระดับโลกน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และ เป็นที่น่าสนใจจากธุรกิจทั่วโลก พูดง่าย ๆ คือ การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกมีศักยภาพในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะประเทศที่มีความปรารถนาในการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “บาร์เซโลนา” ประเทศสเปน มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นภายหลังจากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ด้วยตัวเลข 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


แต่ภาพจำในอดีตได้ถูกลบล้างออกไป เมื่อประเทศกรีซรับบทเป็นเจ้าภาพ โอลิมปิก 2004 ซึ่งผลที่ตามมากลับไม่ได้สวยหรูเหมือนกับชาติอื่นๆที่รับบทเป็นเจ้าภาพมาก่อนหน้า ทั้งเรื่องของสิ่งปลูกสร้างจากโอลิมปิกที่ไม่เพียงแต่ไม่สามารถสร้างมูลค้าเพิ่มได้หลังสิ้นสุดการจัดงานเท่านั้น แต่ยังถูกปล่อยให้รกร้าง เสื่อมโทรม ขาดการดูแล เป็นผลจากเศรษฐกิจของประเทศกรีซที่ชะลอตัว หนักถึงขั้นต้องเป็นหนี้เป็นสินมากถึง 985 ล้านเหรียญสหรัฐ


โศกนาฏกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับกรีซทำให้เกิดคำถามที่ตามมาว่า สรุปแล้วการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติมากขึ้นจริงหรือไม่ ?


มายาคติของการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก


งานศึกษา (Zimbalist, 2016) ได้เสนอให้เห็นถึง “มายาคติ” ของการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก โดยเฉพาะมายาคติว่าด้วยเรื่องการเป็นเจ้าภาพเพื่อดึงดูดเม็ดเงินในการลงทุนจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่ที่บอกว่าดึงดูดได้ เป็นการให้เหตุผลแบบ “คาดเดาไปเรื่อยไม่ได้สนความเป็นจริง” เพราะการจะบอกได้ว่าเม็ดเงินที่เข้ามานั้นเป็นผลมาจากโอลิมปิกอย่างแท้จริง เป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ 


ยกตัวอย่าง เช่น หากมีนายทุนรายหนึ่งต้องการมาลงทุนในบราซิลช่วงที่จัดมหกรรมโอลิมปิก 2016 พอดิบพอดี และนายทุนไม่เข้าใจเรื่องกีฬา หรือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอย่างสิ้นเชิง ในลักษระนี้จะเรียกว่าเข้ามาลงทุนเพราะโอลิมปิกได้อย่างไร ?


การนับรวมแบบไม่สนรายละเอียดนี้ มีส่วนทำให้เกิดความเข้าใจผิดของผู้คนและงานวิชาการอย่างมาก โดยแนวทางที่ถูก ที่ควร ต้องศึกษาแบบ “รอให้เวลาผ่านไปก่อนจึงจะเห็นภาพได้ชัด” ทำให้สามารถที่จะกำหนดขอบเขตตัวแปรในการวัดว่า การลงทุนจากต่างชาติดังกล่าวมีผลมาจากการเป็นชาติเจ้าภาพในมหกรรมโอลิมปิก ซึ่งอ้างอิงได้ยากมาก แต่ทำได้เพียงกำหนดขอบเขตให้เห็นว่า เป็นเพียงความคิดเห็น และ ความเชื่อของรัฐบาลเองว่าการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกจะช่วยเรื่องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนมาจากต่างประเทศ   


เมื่อศึกษาตามนี้จะพบว่า ส่วนมากแล้ว การมาลงทุนในประเทศเจ้าภาพ ไม่ได้มีนัยสำคัญทางสถิติที่เพิ่มขึ้นไปกว่าช่วงก่อนเป็นเจ้าภาพเสียเท่าไร


การวิจัยได้ยกกรณีศึกษาโอลิมปิก ลอนดอน 2012 ที่อังกฤษอ้างว่ามีนายทุนต่างชาติกว่า 16 รายอยากจะเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในระหว่างการแข่งขันดำเนินไป และคาดการณ์ว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี เพิ่มขึ้น ซึ่งในข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะตัวเลขการลงทุนจากต่างชาติในช่วงที่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกยังทำได้เพียง 44.1 พันล้านปอนด์ น้อยกว่าค่าเฉลี่ยตัวเลขการลงทุนจากต่างชาติของอังกฤษที่ประมาณ 91.6 พันล้านปอนด์ไปมากกว่าเท่าตัว หรือคิดเป็นตัวเลขกลม ๆ อังกฤษสูญเสียเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (หลังจากจบโอลิมปิก) ไป 900 ล้านปอนด์


เมื่อดูจากการเปรียบเทียบตัวเลขการลงทุน จึงอาจกล่าวได้ว่าการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกไม่มีผล ต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากเท่าที่ควร กลับกัน ยังจะเป็นผลเสียมากกว่า เพราะงานศึกษาเสนอต่อว่า นักลงทุนย่อมทราบดีว่า เจ้าภาพโอลิมปิก “ต้องการเงินทุน” เพื่อมาหมุนเวียนในเศรษฐกิจอย่างมาก ทั้งจากการกู้ยืมเงินและใช้งบการคลังเพื่อเป็น “เงินทุนจัดงาน (Cost Overrun)” ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี


การจะมาเพิ่มอัตราภาษีหรือเพิ่มหนี้สาธารณะให้แก่ประชาชน รัฐบาลจะเสียคะแนนนิยม และอาจทำให้ไม่ชนะเลือกตั้งในครั้งต่อไป ดังนั้น เจ้าภาพก็จะหิวกระหายการลงทุนจากต่างชาติมาก ทำให้นายทุนพวกนี้สามารถที่จะต่อรอง หรือ ประวิงเวลา เพื่อกดเม็ดเงินการลงทุน หรือดีลธุรกิจแบบได้เปรียบประเทศเจ้าภาพในอีกทางหนึ่ง แม้จะมีคู่เจรจา แต่เม็ดเงินที่จะได้กลับลดลงหรือพอ ๆ กับของเดิมก็เป็นได้


What’s to be done ?


มาถึงตรงนี้ ย่อมเกิดคำถามที่ตามาว่า เมื่อเป็นเจ้าภาพแล้วการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไม่ได้ผลเท่าที่ควร แบบนี้ จะแก้ไขปัญหาอย่างไรดี ? งานศึกษานี้เสนอแนะ 2 แนวทางด้วยกัน ดังต่อไปนี้


ประการแรก ปฏิรูปจากเบื้องบน คือการชี้ชัดไปเลยว่า ประเทศใดควรจะเป็นเจ้าภาพ มากกว่าที่จะมาประมูลแข่งขันกัน ซึ่งส่วนมากแล้วก็มีไม่กี่เมืองและกี่ประเทศที่จะสามารถเป็นเจ้าภาพได้อย่างไม่ต้องมากังวลเรื่องเงิน งานศึกษาชี้ว่า สหรัฐอเมริกาและมหาอำนาจในโลกตะวันตกที่มีความพร้อมเรื่องสนามแข่งและโครงสร้างพื้นฐานอยู่ก่อนหน้าคือตัวเลือกที่ดีที่สุด


ประการต่อมา ปฏิรูปจากเบื้องล่าง คือการยังเปิดให้ประมูลเป็นเจ้าภาพจากทั่วทุกมุมโลก แต่ต้องใช้เงินให้พอดี ปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นมากกว่าที่จะสร้างใหม่ เช่น อาจจะลงทุนร่วมกับสโมสรเจ้าของสนามในการตจ่อเติมที่นั่งหรือระบบระบายน้ำ หรือไม่ก็อาจจะต้องหาสปอนเซอร์เตรียมไว้ให้เยอะ ๆ และให้สิทธิ์พวกเขาในการ “ล้วงลูก” การจัดงานได้


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล [Hayden Whiz]


แหล่งอ้างอิง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง