รีเซต

ปลัดสัตหีบไม่รอด หลักฐานมัดตัวไถเงินพูลวิลล่า ตร.เร่งขยายผลหาผู้ร่วมขบวนการ

ปลัดสัตหีบไม่รอด หลักฐานมัดตัวไถเงินพูลวิลล่า ตร.เร่งขยายผลหาผู้ร่วมขบวนการ
มติชน
28 ตุลาคม 2565 ( 22:28 )
72

สืบเนื่องจากกรณีเจ้าของบ้านพักพูลวิลล่าในพื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอสัตหีบมีพฤติการณ์เรียกรับเงินค่าออกหนังสือรับรองสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม จากผู้ประกอบการธุรกิจบ้านพักพูลวิลล่าในพื้นที่ โดยจะใช้วิธีการให้ผู้ประกอบการนําเงินใส่ซองจดหมายแล้วนําไปหย่อนที่ตู้รับบริจาคระบุตัวหนังสือหน้าตู้กิ่งกาชาดอำเภอสัตหีบ ที่จัดเตรียมไว้ให้อ้างว่าเป็นค่าดําเนินการ ซึ่งจะคิดอัตราบ้านพักหลังละ 15,000 บาท หากไม่ยอมจ่ายเงินดังกล่าว ก็จะไม่ได้รับการออกใบรับรองให้ หรือยื้อเวลาในการออกใบรับรองจนกว่าจะนําเงินมาจ่ายนั้น

 

ล่าสุด เมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 28 ตุลาคม นายภูมิวิศาล เกษมศุข รองเลขาธิการ รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) กล่าวถึงกรณีการสนธิกำลังร่วมกับ ตำรวจ บก.ปปป. เข้าจับกุม นายกัณฑ์พงษ์ สุวรรณปทุมเลิศ อายุ 40 ปี ปลัดอาวุโสอำเภอสัตหีบ พร้อมน.ส.สุภาพร ผิวเหลือง อายุ 43 ปี เจ้าหน้าที่ปกครองที่ทำการอำเภอสัตหีบ เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมาว่า การดำเนินการในวันนี้ถือเป็นการขับเคลื่อนแผนตามนโยบายรัฐบาลที่ต่อต้านการทุจริต หลังได้รับข้อมูลผ่านท่างสายด่วน ว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเรียกรับสินบน จึงประสานข้อมูลไปยังตำรวจ บก.ปปป. จนมีการรวบรวมพยานหลักฐานข้อเท็จจริงนำไปสู่การบังคับใช้กฏหมายกับผู้กระทำผิดในวันนี้

 

“สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าเป็นการกระทำของตัวบุคคลไม่เกี่ยวกับองค์กร ที่ผ่านมาเราพยายามปราบปรามการทุจริตอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงมีคนกลุ่มน้อยกระทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ” นายภูมิวิศาล กล่าว

 

ด้าน พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. กล่าวว่า หลังได้รับการประสานข้อมูลจากทาง ป.ป.ท. จึงจัดกำลังลงพื้นที่เร่งสืบสวนหาข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ จนกระทั่งแน่ใจว่าจากหลักฐานที่มีอยู่สามารถเอาผิดผู้กระทำผิดได้ จึงนำกำลังลงพื้นที่อีกครั้งในวันนี้เพื่อเก็บพยานหลักฐานชิ้นสุดท้าย คือ การส่งมอบเงิน พร้อมกับเข้าจับกุมตัวผู้กระทำความผิดทั้ง 2 ราย คือ เจ้าหน้าที่ปลัดอำเภอสัตหีบ ซึ่งปัจจุบันรักษาการนายอำเภอ และ เจ้าหน้าที่อำเภออีกราย

 

พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวต่อว่า สำหรับคดีดังกล่าว ทำให้รู้ว่ากลุ่มผู้ทุจริต เริ่มมีวิวัฒนาการที่แยบยลมากขึ้นเพื่อให้ยากต่อการตรวจสอบ เช่น การใช้วิธีหย่อนเงินลงกล่องรับบริจาค อ้างเพื่อการกุศล ช่วยเหลือผู้ยากไร้ แต่จากแนวทางสืบสวนพบเชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องทุจริตส่วนตัว จึงต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เบื้องต้นมีการแจ้งข้อหาตามความผิดมาตรา 157,149

 

โดยหลังจากนี้จะยังคงขยายผลเอาผิดผู้ร่วมขบวนการที่เหลือต่อเนื่อง ซึ่งจากหลักฐานที่มีอยู่แน่ชัดแล้วในขณะนี้ พบมีผู้ร่วมขบวนการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องอีกประมาณ 1-2 ราย ส่วนจะขยายผลไปถึงใครนั้นขอเวลาตรวจสอบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง