รีเซต

ภัยแล้งขยายวงกว้าง ’กระทบท่องเที่ยว สั่งปิดน้ำตก 3 แห่ง - ปราณบุรีฯ พื้นที่ฉุกเฉิน

ภัยแล้งขยายวงกว้าง ’กระทบท่องเที่ยว สั่งปิดน้ำตก 3 แห่ง - ปราณบุรีฯ พื้นที่ฉุกเฉิน
TNN ช่อง16
31 มีนาคม 2567 ( 12:56 )
28
ภัยแล้งขยายวงกว้าง ’กระทบท่องเที่ยว สั่งปิดน้ำตก 3 แห่ง - ปราณบุรีฯ พื้นที่ฉุกเฉิน

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบฯคีรีขันธ์ สำรวจพื้นที่น้ำตกห้วยยาง น้ำตกเขาล้าน และน้ำตกขาอ่อน ที่แห้งขอดจากภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงมานานหลายเดือน ทำให้ไม่มีน้ำไหลลงมาจากแหล่งต้นน้ำบนเทือกเขาตะนาวศรีชายแดนไทย - เมียนมา 


ล่าสุดทางอุทยานฯ ประกาศปิดการท่องเที่ยวทั้งบ้านพัก และลานกางเต็นท์เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป โดยปีนี้ภัยแล้งมาเร็วกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการประกาศปิดในช่วงเดือนพฤษภาคม แต่ปีนี้ต้องปิดก่อนถึง 1 เดือนและยังไม่ทราบว่าจะต้องปิดไปนานอีกกี่เดือน เจ้าหน้าที่ต้องเฝ้าระวังในเรื่องของไฟป่า เนื่องจากสภาพป่ามีความแห้งแล้งและมีใบไม้แห้งจำนวนมาก


ด้าน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกประกาศให้พื้นที่อำเภอปราณบุรี รวม 5 ตำบล  เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยแล้ง  ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนปราณบุรีเหลืออยู่เพียงร้อยละ 29 ของความจุ คาดว่าเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น 


ส่วนที่จังหวัยชัยภูมิ ภัยแล้งขยายวงกว้าง แหล่งน้ำทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เหือดแห้งลงทุกวัน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน ลำน้ำชีแห้งขอดจนสามารถเดินข้ามไป-มาได้ บึงละหานซึ่งเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ แหล่งเพาะพันธุ์และวิจัยสัตว์น้ำและนกนานาชนิด ตอนนี้อยู่ในขั้นวิกฤตเหลือน้ำแค่ร้อยละ 40 ขอวงความจุ  


ชาวบ้าน ยังร้องขอให้บึงละหานปล่อยน้ำลงมาเติมในลำน้ำชีเพื่อใช้ผลิตน้ำปะปา 1 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ สามารถปล่อยให้ได้เพียง 6 แสนลูกบาศก์เมตรเท่านั้น เนื่องจากพบว่าน้ำในบึงเริ่มกร่อย หากปล่อยน้ำออกไปมากกว่านี้ จะทำให้ประสบปัญหาน้ำเค็ม ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ


ขณะนี้ ‘บึงบัวแดง’ ภายในบึงละหานเริ่มได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหลายจุด โดยเฉพาะบริเวณจุดแลนด์มาร์ก “สะพานเดินชมบึงบัวแดง” ดอกบัวแดงเริ่มลดจำนวนลง สะพานเริ่มทรุดตัวพังลงมา ทางอำเภอต้องสั่งกันพื้นที่ไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าใช้บริการ 



ส่วนสถานการณ์น้ำเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท กุญแจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำลุ่มภาคคกลาง ล่าสุดได้เพิ่มการระบายน้ำลงท้ายเขื่อนจากเดิม 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขึ้นไปที่ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หลังปริมาณน้ำเหนือเริ่มมีปริมาณเพิ่มขึ้น จากฝนที่ตกในพื้นที่ตอนบนของประเทศ / ส่วนระดับน้ำเหนือเขื่อนยังต่ำกว่ามาตรฐานกักเก็บเข้าสู่วันที่ 125 


จากการที่เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำในอัตราที่เพิ่มขึ้น ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนยกระดับขึ้นเล็กน้อย สันดอนทรายที่เคยโผล่พ้นน้ำ กลับจมหายไปอยู่ใต้น้ำอีกครั้ง / อย่างไรก็ตามกรมชลประทานยังเน้นการผันน้ำเข้าทุ่งทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อส่งน้ำเข้าพื้นที่เพื่อการอุปโภค-บริโภค และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวม 175 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยฝั่งตะวันออกผันน้ำผ่านคลองชัยนาทป่าสัก คลองช่องแค และคลองมหาราช รวม ส่วนฝั่งตะวันตกผันน้ำผ่านคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย  ซึ่งจากสถานการณ์น้ำล่าสุด ทางราชการย้ำขอความร่วมมือเกษตรกรให้งดการทำนาต่อเนื่อง ปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ประชาชนทั่วไปขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัด จนกว่าจะผ่านพ้นหน้าแล้ง 


ข้อมูลจาก: ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

ภาพจากผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง