รีเซต

สธ. สั่งคุมเข้ม 3 จุดเสี่ยง "ไข้กาฬหลังแอ่น"

สธ. สั่งคุมเข้ม 3 จุดเสี่ยง "ไข้กาฬหลังแอ่น"
TNN ช่อง16
27 พฤศจิกายน 2565 ( 10:47 )
181

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้กาฬหลังแอ่น ที่พบในปอเนาะแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดยระบุว่าขณะนี้ เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมโรคไว้ได้แล้ว เนื่องจากสถานที่เกิดเหตุณ์เป็นสถานที่ปิด รวมถึงสถานที่ตั้งนั้นอยู่ห่างไกลจากบ้านเรือนประชาชน ซึ่งผู้ที่จะเดินทางเข้าไปก็จะเป็นญาติผู้ที่มารับการบำบัดยาเสพติดเท่านั้น โดยขณะนี้มีรายงานของผู้เข้าข่ายติดเชื้อแล้ว 25 คน ทำการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 5 คน เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งทาง จ.กระบี่ ได้ติดตามและทำการรักษา ซึ่งก็จะทำการรักษาเหมือนโรคอื่น ๆ ทั่วไป และโรคดังกล่าวก็ไม่ได้แพร่กระจายเร็วเหมือนโรคไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ทั่วไป โดยถือว่ายังคงมียารักษาเพียงพอ ซึ่งถือว่าตัวเลขผู้ป่วยในขณะนี้ยังไม่เกินหลักสิบราย จึงขอให้ไม่ต้องกังวลกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น



ส่วนมาตรการควบคุมนั้น เบื้องต้นได้มีการติดตามเฝ้าระวังในสถานที่ 3 แห่ง ที่ใกล้เคียงกับจุดที่พบผู้ติดเชื้อ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาประมาณ 20 วัน สำหรับการเฝ้าดูอาการ หรือจนถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ซึ่งจะหมดระยะฟักตัวและสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ ส่วนการตรวจว่าเชื้อเพื่อระบุสายพันธุ์นั้น ปัจจุบันยังคงอยู่ระหว่างการส่งตัวอย่างของเชื้อไปตรวจสอบที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยได้มีการส่งไปตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน และคาดว่าผลของเชื้อจะออกในช่วงสัปดาห์หน้า


สำหรับโรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ โดยเชื้อจะอยู่ในรูปของละอองฝอยในน้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ป่วย โดยจะติดได้จากการสัมผัส ซึ่งโรคไข้กาฬหลังแอ่น จะแตกต่างจากเชื้อโควิด-19 ตรงที่เชื้อไข้กาฬหลังแอ่นเกิดจากแบคทีเรีย ไม่เหมือนโควิด-19 ที่เป็นเชื้อไวรัส เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการทางผิวหนัง รวมไปถึงอาการทางสมอง และสามารถทำให้เสียชีวิตได้  โดยเหตุการณ์ที่ผ่านมาที่มีการพบการระบาดของไข้กาฬหลังแอ่น มักจะพบในพื้นที่แออัด เช่น โรงเรียนประจำ โรงเรียนสอนศาสนา หรือในค่ายทหาร ที่มีผู้เข้ามารวมตัวกันเยอะ ๆ ซึ่งมาตรการป้องกันนั้น จะต้องงดการอยู่ร่วมกันในพื้นที่แออัด การล้างมือบ่อย ๆ และผู้ที่ป่วยจะต้องได้รับการวินิจฉัยโดยเร่งด่วน เพราะโรคดังกล่าวหากดูโดยผิวเผินแล้ว จะคล้ายคลึงกับโรคระบบทางเดินหายใจทั่วไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง