รีเซต

ยาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ของ Evusheld เริ่มฉีดให้ผู้ป่วยไตเรื้อรัง ต้านโควิด-19

ยาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ของ Evusheld เริ่มฉีดให้ผู้ป่วยไตเรื้อรัง ต้านโควิด-19
TNN ช่อง16
27 กรกฎาคม 2565 ( 12:49 )
206

วันนี้ (27 ก.ค.65) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เป็นประธานการจัดนำร่องฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ Long Acting Antibody (LAAB) ที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี เพื่อป้องกันโควิด 19 สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน เป็นวันแรก โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เข้าร่วม

ทั้งนี้ หลังจากที่ "แอสตร้าเซนเนก้า" ได้ส่งมอบยาฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป  "ยาอีวูชีลด์" (Evusheld) ชุดแรกมาให้ 7,000 โดส จากจำนวน 257,500 โดส ซึ่งที่เหลือจะทยอยส่งมอบต่อไปภายในปีนี้ เบื้องต้นประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ จำนวนกว่า 500,000 ราย

นายอนุทิน ระบุว่า ในวันนี้ถือเป็นความก้าวหน้าของกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งหนึ่ง ที่ได้จัดหายาฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ให้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ น่าจะทำให้อัตราการควบคุมการเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยงดีขึ้น 

เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาร้อยละ 95 ยังคงเป็นกลุ่ม 608 และกลุ่มที่มีโรคประจำตัวร่วม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้มีการพูดคุยกับแอสตร้าเซนเนก้าเป็นอย่างดี ในการที่จะปรับเปลี่ยนจากการสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 สูตรเดิม มาเป็นยาฉีดบางส่วนในครั้งนี้

สำหรับยาฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ของแอสตร้าเซนเนก้า คือ "อีวูชีลด์" (Evusheld) ประกอบด้วยภูมิคุ้มกัน 2 ชนิด บรรจุใน 2 ขวด คือ Tixagevimab และ Cilgavimab จะใช้ฉีดในคนอายุ 12 ปี ขึ้นไป น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 40 กิโลกรัมขึ้นไป โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อสะโพก 2 ข้าง ข้างละ 1.5 มิลลิลิตร และใช้กับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 

ผู้ป่วยที่เคยปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยมิคุ้มกันบกพร่อง คนที่ใช้ยากดภูมิ รวมถึงผู้เคยฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว 3 เข็ม แต่ภูมิไม่ขึ้น ฉีดในผู้ที่ไม่ได้กำลังติดเชื้อโควิด และไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงโควิด 


ทั้งนี้ เมื่อฉีดแล้วยาจะอยู่ได้ 6 เดือน และพบว่ามีผลข้างเคียงน้อย ซึ่งข้อมูลจาก บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า พบว่า ยาดังกล่าวสามารถป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ได้ดี รวมถึง BA.4 และ BA.5 ได้ถึงร้อยละ 80 ส่วนการเก็บรักษายาอยู่ที่ 2-8 องศาเซียลเซียส

โดยผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายสามารถติดต่อเข้ารับการฉีด ยาฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ได้ที่สถานพยาบาลตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกําหนดไว้ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนต่อ อย.ในการนำมาใช้ในการรักษาต่อไปด้วย.


ภาพจาก ทีมข่าว TNN ช่อง 16


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง