สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ติงรัฐบาล แก้ปัญหาหมูแพงไม่ตรงจุด เผย 2 ปมที่แท้จริง
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ติงรัฐบาล แก้ปัญหาหมูแพงไม่ตรงจุด เผย 2 ปัญหาที่แท้จริง ย้ำเป็นไปไม่ได้ 4 เดือนกลับมาสู่ภาวะปกติ คาดต้องใช้เวลา 1-2 ปี
วันที่ 6 ม.ค.65 นายสัตวแพทย์วิวน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวถึงมาตรการแก้ปัญหาหมูแพงของหน่วยงานภาครัฐบาลว่า เป็นการแก้ปัญหาผิดจุด เป็นการแก้ปัญหาโดยไม่เข้าใจปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะมาตรการห้ามส่งออกหมูมีชีวิต เพราะวันนี้ จำนวนหมูในประเทศไม่พอ เข้าขั้นขาดแคลน ไม่มีเหลือส่งออกอยู่แล้ว จะห้ามส่งออกไปก็ไม่มีผล
“เรื่องของการส่งออกหมูตามที่มีการรายงาน เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีตช่วงที่โควิด19 ระบาด ทำให้การบริโภคหมูในประเทศลดลง ปริมาณหมูในระบบเหลือทำให้ต้องส่งออกเพื่อระบายสินค้า แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยน ดังนั้นข้อมูลเก่าเอามาใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปแล้วไม่ได้”
ปัญหาในปัจจุบันคือ 1.ต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้น และ 2.เกิดโรคระบาดในหมู ที่ตอนนี้ยังไม่มีวัคซีน มีหมูตายเพิ่มขึ้นทุกวัน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไขสถานการณ์ให้กลับมาอยู่ในภาวะปกติภายในเวลา 4 เดือน ปริมาณหมูที่หายไปจากระบบ 5 ล้านตัว ก็ไม่สามารถกลับมาได้ภายใน 4 เดือนเช่นกัน คาดว่ากว่าจะฟื้นได้ต้องใช้เวลา 1-2 ปี ทั้งแก้ปัญหาโรคระบาดและเพิ่มปริมาณหมูในระบบ
นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ ระบุอีกว่า เสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน ด้วยการประกาศวิกฤตโรคระบาดในหมู เป็นภัยพิบัติฉุกเฉิน และให้คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ที่มี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน อนุมัติงบช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ที่ได้รับผลกระทบเป็นการเร่งด่วน เพื่อหามาตรการฟื้นฟูการเลี้ยงให้กับเกษตรกร
ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้เสนอเรื่องนี้ไปนานนับปีแล้ว โดยครั้งนั้นเสนอของบช่วยเหลือไปราว 500 ล้านบาท แต่ไม่ได้รับความสนใจพิจารณา ซึ่งครั้งนี้มองว่ารัฐบาลควรนำข้อเสนอดังกล่าวกลับมาทบ ทวนอีกครั้งเพื่อเป็นการช่วยเกษตรกรและเพิ่มปริมาณหมูในระบบได้อย่างตรงจุด
ที่มา : สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว