รีเซต

กสศ.เตรียมให้งบค่าอาหารนักเรียนยากจนพิเศษ 5 แสนคน

กสศ.เตรียมให้งบค่าอาหารนักเรียนยากจนพิเศษ  5 แสนคน
TNN ช่อง16
8 พฤษภาคม 2563 ( 13:31 )
241

 

เมื่อวันที่ 7.. ที่ผ่านมา นายอำนาจ  วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า  สพฐ.และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรายงานสถานการณ์นักเรียนยากจนพิเศษที่ได้รับผลกระทบจากการเลื่อนเปิดภาคเรียนเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยรมว.ศธ.ได้สั่งการให้ ร่วมมือกันลดผลกระทบให้กับนักเรียนกลุ่มนี้อย่างเร่งด่วน 

 

เบื้องต้น กสศ.จะจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติม ให้กับนักเรียนทุนเสมอภาคที่ได้รับเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขต่อเนื่องจากปีการศึกษา 2562 และมีรายชื่อการรับเงินอุดหนุน ภาคเรียนที่ 2/2562 ( ข้อมูล เดือนมีนาคม 2563) ระดับชั้นประถมศึกษา 1- 6 จำนวน 500,000 คน ในอัตรา 600 บาทต่อคน โดยทางกสศ.แจ้งว่าจะจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมนี้ให้แก่โรงเรียนภายในวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 และขอให้สถานศึกษาดำเนินการจัดสรรให้แก่นักเรียนและผู้ปกครองให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 

 

นายอำนาจ กล่าวว่า สพฐ. ขอให้เขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 เขต สร้างความเข้าใจแนวทางและกระบวนการดำเนินงานแก่โรงเรียนในสังกัด  โดยเฉพาะวิธีการใช้จ่ายเงินอุดหนุนนักเรียนทุนเสมอภาคเพิ่มเติมเพื่อให้เงินช่วยเหลือจาก กสศ.ครั้งนี้ ไปถึงเด็กนักเรียนที่กำลังเดือดร้อนได้เร็วและเกิดประโยชน์มากที่สุด  

 

 เป้าหมายสำคัญให้เด็กได้ทานอาหารตามภาวะโภชนาการที่ดี ทั้งนี้โรงเรียนสามารถเลือกวิธีบริหารจัดการให้สอดคล้องตามความต้องการของนักเรียน และคำนึงถึงสถานการณ์ บริบทในพื้นที่ โดยดำเนินการได้ 2 แนวทางคือ 1. โรงเรียนจัดหาข้าวสารอาหารแห้งที่จำเป็นหรืออาหารที่มีประโยชน์และจัดสรรให้กลุ่มเป้าหมายนักเรียนทุนเสมอภาคหรือผู้ปกครอง 2. โรงเรียนจ่ายเงินสดหรือโอนผ่านธนาคารไปยังกลุ่มเป้าหมายนักเรียนทุนเสมอภาคหรือผู้ปกครอง เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนในการจัดหาอาหาร หรือเป็นค่าครองชีพ    

 

 ต้องขอบคุณคุณครูและโรงเรียนที่ไม่เคยนิ่งเฉย คอยติดตามความเป็นอยู่นักเรียนอย่างใกล้ชิด เงินอุดหนุน จากกสศ.ครั้งนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเด็กๆได้ในเบื้องต้น อย่างไรก็ดี รมว.ศธ.ได้มีข้อแนะนำให้ กสศ.หาช่องทางขอรับงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษให้ครอบคลุมชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นอีกราว 2 แสนคน  ทั้งนี้หาก กสศ.ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมก็จะสามารถจัดสรรได้ทันช่วงมิถุนายนนี้นายอำนาจ กล่าว

 



นายสุภกร  บัวสาย  ผู้จัดการกสศ. กล่าวว่า เบื้องต้น ภายใต้งบประมาณที่จำกัดจะมุ่งไปที่นักเรียนชั้นป.1–.6 เนื่องจาก ผลการวิเคราะห์ข้อมูลน้ำหนัก/ส่วนสูงในภาคเรียน 2/2561 จากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ iSEE ของกสศ.โดยอ้างอิงข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 720,946 คน พบว่า นักเรียนยากจนพิเศษระดับประถมศึกษามีปัญหาทางภาวะโภชนาการรุนแรงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับระดับมัธยมต้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตในอนาคตอย่างถาวรได้  โดยมีนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการที่ควรได้รับการช่วยเหลือในระดับชั้นประถมประมาณ 29,991 คน  ซึ่งจะอยู่ในจำนวน 500,000 คนที่จะได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมในครั้งนี้ด้วย 

 

 นายสุภกร กล่าวว่า กสศ.ได้เชิญ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการอาวุโส ร่วมจัดทำรายการข้าวสารอาหารแห้งที่เป็นประโยชน์และมีโภชนาการที่ดีสำหรับเด็กเพื่อแนะนำให้โรงเรียนจัดหาให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาค ภายใต้งบประมาณ 600 บาทต่อคนใน 30 วันเรียน  เรียกว่าเป็นถุงยังชีพเพื่อโภชนาการที่ดีของนักเรียนยากจนในช่วงการเลื่อนเปิดเทอม ซึ่งประกอบด้วย ข้าวสาร 20 กิโลกรัม ไข่ไก่ 36 ฟอง ปลากระป๋อง 10 ประป๋อง น้ำมันพืช 1 ขวด หากไม่มีอุปสรรคเรื่องการเดินทาง เด็กๆเดินทางมาง่าย บางโรงเรียนอาจมีศักยภาพในการบริหารจัดการเป็นโรงครัวเพื่อให้เด็กๆมารับประทานอาหารหรือรับอาหารกลับไปได้ โดยมีการจัดระยะห่างเพื่อความปลอดภัย ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค  

 

นอกจากนี้ กสศ.ประสานกับภาคธุรกิจเอกชนจำหน่ายข้าวสารอาหารแห้งในราคาเท่าทุนหรือต่ำกว่าต้นทุนให้แก่โรงเรียน  สำหรับประชาชนหรือภาคส่วนต่างๆสามารถร่วมบริจาคสมทบเพื่อโภชนาการที่ดีของนักเรียนยากจนพิเศษในช่วงเลื่อนเปิดเทอม และใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่า ได้ที่ https://donate.eef.or.th/main-donate หรือธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี กสศ.มาตรา 6(6) - เงินบริจาค เลขที่บัญชี 1720300216สอบถามรายละเอียดได้ที่ กสศ. โทร. 02- 079-5475   

 


 

ด้านอาจารย์สง่า ดามาพงษ์  นักโภชนาการชื่อดัง กล่าวว่า ความเดือดร้อนของนักเรียนยากจนพิเศษที่ได้รับผลกระทบเรื่องการขาดแคลนอาหาร ถือเป็นวิกฤตในวิกฤต กระทบเด็กมากกว่า 7 แสนคน   ที่ต้องกินอาหารที่บ้านซึ่งไม่สามารถแบกรับภาระตรงนี้ พ่อแม่ให้อาหารลูกไม่ถูกหลักโภชนาการ กินไม่อิ่ม หรือต้องอดมื้อกินมื้อ แม้เพียงแค่ 2-3 เดือน ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก โดยเฉพาะเด็กยากจนที่มีภาวะทุพโภชนาการอยู่แล้ว  จะยิ่งส่งผลให้มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่าย รวมทั้งโรคโควิด-19เมื่อเปิดเทอมมา จำนวนเด็กนักเรียนที่ขาดสารอาหารเพิ่มขึ้น  มีรูปร่างผอม เตี้ย แคระแกรน 

 

 

ที่สำคัญเซลล์สมองเด็กจะเติบโตช้า เสี่ยงสูงต่อไอคิวต่ำ เรียนไม่เก่ง สอบตกซ้ำชั้น ผลกระทบทั้งหมดนี้ยากที่จะกู้คืนกลับมาให้เป็นปกติได้ ส่งผลกระทบระยะยาวไปถึงอนาคตเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง