รีเซต

เปิด 4 อาการหนักพบบ่อย "ลองโควิด" โอไมครอน

เปิด 4 อาการหนักพบบ่อย "ลองโควิด" โอไมครอน
TNN ช่อง16
11 พฤษภาคม 2565 ( 19:55 )
182
เปิด 4 อาการหนักพบบ่อย "ลองโควิด" โอไมครอน


วันนี้ (11 พ.ค.65) สำนักงานข้อมูลเชิงสถิติอังกฤษ หรือโอเอ็นเอส ระบุว่า ได้รับรายงานว่า ผู้ป่วยลองโควิดโอไมครอนในอังกฤษได้อธิบายถึงอาการป่วยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจวัตรประจำวันในระดับที่มาก 

อาทิ อ่อนเพลีย ร้อยละ 51 หายใจไม่อิ่ม ร้อยละ 33 สูญเสียความสามารถในการได้กลิ่น ร้อยละ 26 และไม่ค่อยมีสมาธิจดจ่อ ร้อยละ 23 โดยกลุ่มที่พบป่วยเป็นลองโควิดมากที่สุดเป็นเพศหญิงอายุ 35-49 ปี กลุ่มอาชีพสาธารณสุข การศึกษา ผู้พิการและผู้มีโรคประจำตัว

อย่างไรก็ตาม พบกลุ่มที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างน้อย 2 เข็ม พบภาวะที่ป่วยเป็น "ลองโควิดโอไมครอน" (Long Covid) ได้น้อยลงครึ่งต่อครึ่งจากสายพันธุ์โอไมครอน  

และพบผู้ป่วย "ลองโควิด" สายพันธุ์โอไมครอน BA.2 มากกว่า BA.1 ราวร้อยละ 22 ในกลุ่มฉีดครบ 3 เข็ม โดยเกณฑ์การประเมินว่าเป็นลองโควิดนั้น มาจากการสังเกตอาการป่วยเรื้อรังที่นานเกินกว่า 4 สัปดาห์หลังการติดเชื้อ ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยโรคอื่น ๆ และ จากข้อมูลเมื่อติดโควิดสายพันธุ์โอไมครอน จะเสี่ยงเป็นลองโควิด หนักกว่าติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า


ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐ รายงานว่า โควิด BA.2 ระบาดถึงจุดสูงสุดแล้ว โดยผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเพียง 3% ในสัปดาห์ที่แล้ว แต่โควิดกลายพันธุ์ BA.2.12.1 มีการเติบโตประมาณ 50% ต่อสัปดาห์ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยพบว่า สายพันธุ์ BA.2.12.1 แพร่เชื้อได้สูงถึง 43% ของผู้ป่วยรายใหม่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อโควิดโอมิครอนจำนวนมากจะติดเชื้อซ้ำ เป็นสายพันธุ์ BA.2.12.1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพวกเขายังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน 

มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ เปิดเผยว่า สหรัฐฯ มียอดผู้ติดเชื้อโควิดสะสมเกิน 82.1 ล้านคนแล้ว ขณะที่ ยอดตายจากโควิดสะสม พุ่งขึ้นใกล้แตะ 1 ล้านคน โดยเมื่อค่ำวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิดสะสม อยู่ที่ 998,346 คนแล้ว ส่วนการฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ ฉีดไปแล้วมากกว่า 577.4 ล้านโดส

ขณะนี้ สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อโควิดกว่า 68,000 คนทุกวัน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วร้อยละ 20 และร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับสองสัปดาห์ก่อน

ด้าน พิพิธภัณฑ์พระราชวัง หรือ พระราชวังต้องห้ามของจีน จะเปิดชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคมเป็นต้นไป เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อโควิด-19 ให้ต่ำลง ในหมู่ประชาชน 

โดยทางการกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระราชวังต้องห้าม รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อโควิดที่แสดงอาการ อีก 24 คนเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ลดลงจากเมื่อวันจันทร์ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 61 คน ธุรกิจมากมายในกรุงปักกิ่ง ได้ปิดทำการแล้ว และประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการบอกกล่าวให้ทำงานที่บ้าน เพื่อพยายามหยุดการระบาดของเชื้อโควิด

หลังจากเมื่อไม่นานมานี้องค์การอนามัยโลก WHO เพิ่งประกาศสนับสนุนการใช้ยาแพกซ์โลวิด ยารักษาโรคโควิด-19 ชนิดรับประทานจากบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ในกลุ่มผู้ป่วยความเสี่ยงสูง หลังการวิเคราะห์ข้อมูลการทดลองทางคลินิกของ WHO ในกลุ่มผู้ป่วยเกือบ 3,100 คน ซึ่งผลออกมาว่ายาดังกล่าวสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้ถึง 85% แถมยังยกให้ เป็นยารักษาโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลับเริ่มมีรายงานว่าพบผู้ป่วยบางรายที่กลับมาป่วยซ้ำหลังรับประทานยาแพกซ์โลวิดครบ 5 วัน และมีอาการป่วยหนักกว่าเดิม 


ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือ เอฟดีเอ ระบุว่า ไม่แนะนำให้แจกยาแพกซ์โลวิดโดส 2 ให้กับผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบซ้ำ ทำให้เกิดคำถามว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับยาตัวนี้ 

ด้าน บริษัทไฟเซอร์ ระบุว่า ทางบริษัทได้รับรายงานเรื่องนี้แล้ว และกำลังตรวจสอบอย่างจริงจัง โดยอัตราการเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มีความคล้ายคลึงกับผู้ร่วมทดลองที่ได้ยาปลอมในขั้นตอนการทดลองทางคลินิกเช่นกัน จึงยังไม่ควรยืนยันว่ายาเป็นสาเหตุของอาการเหล่านี้โดยตรง


องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ของไทย เตรียมผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ได้เอง และสามารถนำเข้าได้ในราคาต้นทุนที่ถูกลงในราคาเม็ดละ 13 บาท จากเดิมที่ต้องใช้ราคา 8,000 บาทต่อคอร์สต่อคน ปัจจุบันเหลือ 600 บาทต่อคอร์สต่อคน 

ส่วนเรมเดซิเวียร์ จากเดิมราคา 1,200 บาทต่อเข็ม ปัจจุบันเหลือ 200 บาทต่อเข็ม แปลว่าการผลิตมากกว่าผู้ติดเชื้อแล้ว และอนาคตจะปลดล็อกให้สถานพยาบาลเอกชนสามารถนำเข้าและจัดซื้อ ยาโมลนูพิราเวียร์ เพียงแต่ปัจจุบันผู้ผลิตยังยื่นขึ้นทะเบียนยาเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน ทำให้ต้องสั่งซื้อโดยรัฐเท่านั้น

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติขยายทะเบียนความครอบคลุมวัคซีนโคโวแวกซ์จากอินเดีย จากเดิมขอใช้อายุ 18 ปีขึ้นไป ลงมาถึงอายุ 12-17 ปี และโมเดอร์นาที่เดิมใช้ในอายุ 12 ปีขึ้นไป ก็จะขยายลงมาถึงอายุ 6-11 ปีด้วย.





ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง