ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด กนง. 24 มี.ค. คงดอกเบี้ย 0.5% - ลดตัวเลขคากการณ์ศก.ปีนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ กนง. จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% หลังภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อดูแลผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสองในประเทศไทยเริ่มบรรเทาลง ขณะที่วัคซีนโควิด-19 ได้ทยอยเข้ามาตามแผนการจัดหาวัคซีนของไทย ในขณะที่ ทางการคงติดตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังมีมาตรการทางการคลังที่ออกมาเพิ่มเติม เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 2 โครงการเราชนะ และโครงการเรารักกัน ตลอดจนมาตรการทางการเงินที่ออกมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ การลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ การลดค่างวดผ่อนชำระ รวมถึงล่าสุดการปรับเกณฑ์ลดอัตราดอกเบี้ยผิดสัญญาเงินกู้-ผิดนัดชำระหนี้
ทั้งนี้ ในการประชุม กนง. รอบนี้จะมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยรอบใหม่ โดยจากประมาณการครั้งล่าสุด กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัว 3.2% ซึ่งการประเมินดังกล่าวยังไม่ได้รวมผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ กนง. อาจมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในการประชุมที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ดี จากปัจจัยบวกที่มีเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเพิ่มเติม คาดว่ากนง. น่าจะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเพียงเล็กน้อย จึงเป็นการสนับสนุนการคาดการณ์การคงดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ไว้ที่ 0.5%
นอกจากนี้ คงจะต้องติดตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่อาจออกมาเพิ่มเติม โดยธปท. มีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นการใช้มาตรการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดมากกว่าการใช้มาตรการทั่วไปอย่างการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยหนึ่งในมาตรการที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาและคาดว่าธปท. อาจนำออกมาใช้คือโครงการ “พักทรัพย์พักหนี้” โดยหลักการคือให้ลูกหนี้ตีโอนทรัพย์เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่ให้เจ้าหนี้และลูกหนี้มีสิทธิ์ซื้อคืนในราคาตามที่ได้มีการตกลงกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งมาตรการนี้คาดหวังว่าจะช่วยลดภาระการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในช่วงที่ธุรกิจยังไม่กลับมาสู่ระดับปกติได้ อีกทั้งจะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่เข้าโครงการ สามารถที่จะเช่าทรัพย์ที่ตีโอนให้สถาบันการเงิน กลับมาใช้ในการทำธุรกิจได้ ซึ่งจะช่วยพยุงการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามในรายละเอียดของมาตรการหลังมีความชัดเจนมากขึ้น