ธปท.เกาะติดแผ่นดินไหวห่วงซ้ำเติมอสังหาฯ

ดร.สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลกระทบของเหตุการณ์แผ่นดินไหวต่อเศรษฐกิจไทยว่า เร็วเกินไปที่จะประเมิน เพราะส่งผลกระทบหลายช่องทางที่ต้องติดตามใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่น และพฤติกรรมของธุรกิจและประชาชนที่อาจกังวลเรื่องโครงสร้าง และความปลอดภัย ทำให้ชะลอการเช่า หรือซื้ออาคารสูง
ดังนั้นอาจส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ฟื้นตัวช้าอยู่แล้ว และเป็นการฟื้นตัวแบบ "K-Shaped" รวมทั้งยังมีปัญหาอุปทานคงค้างในจุดที่เป็นคอนโดสูงด้วย ก็จะเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่อยู่ในในภาคอสังหาฯ เพราะฉะนั้นเมื่อมองไปข้างหน้าเรื่องความเชื่อมั่นและมาตรการด้านความปลอดภัยจะต้องติดตามใกล้ชิดว่าจะสามารถเรียกกลับมาได้เร็วแค่ไหน
สำหรับมาตรการผ่อนคลาย LTV นั้น ธปท.ไม่ได้คาดหวังว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจมากอยู่แล้ว เป็นเพียงการช่วยเหลือภาคอสังหาฯ ที่มีปัญหาอุปทานคงค้างในระดับสูง
นอกจากนี้ ธปท.จะติดตามผลกระทบด้านท่องเที่ยว ซึ่งล่าสุดที่หารือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวยังไม่พบการยกเลิกตั๋วเครื่องบิน หรือที่พักแรมมากผิดปกติ รวมถึงติดตามการใช้จ่ายของภาคเอกชนและครัวเรือนที่อาจชะลอลงในระยะสั้นๆ ขณะที่ด้านรายได้ประชาชนไม่ถูกกระทบมากนัก ยังมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง เพราะเหตุการณ์ไม่ได้กระทบในวงกว้างและธุรกิจไม่ได้หยุดชะงัก
สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จะมีผลให้ ธปท. ต้องใช้การผ่อนคลายนโยบายการเงิน หรือลดดอกเบี้ยต่อเนื่องหรือไม่นั้น ดร.สักกะภพกล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 กนง.ได้ให้น้ำหนักทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว เพราะมองว่ามีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจสูงขึ้น จึงมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25
อย่างไรก็ดีเมื่อมีข้อมูลใหม่เพิ่มเข้ามาก็จะได้นำไปพิจารณาในที่ประชุม กนง. ครั้งหน้า (วันที่ 30 เมษายนนี้) เพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมต่อไป