อินโดนีเซีย ลดค่า "ตรวจโควิด" RT-PCR เหลือพันกว่าบาท ตามเสียงเรียกร้องปชช.
วันนี้ (24 ส.ค.64) โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย มีคำสั่งให้ปรับลดราคาค่าตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ให้อยู่ระหว่าง 450,000-550,000 รูเปียห์ หรือประมาณ 1,035-1,265 บาท จากราคาสูงสุดเดิมที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ที่ 900,000 รูเปียห์ หรือประมาณ 2,070 บาท ซึ่งทำให้ค่าตรวจโรคด้วยวิธีนี้ลดลงถึงร้อยละ 38.9-50
วิโดโด กล่าวในวิดีโอที่เผยแพร่ในบัญชีทางการของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ว่าการลดราคาค่าตรวจข้างต้นเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มการตรวจโรค พร้อมสั่งด้วยว่า ผลการทดสอบอาร์ที-พีซีอาร์ในอินโดนีเซียควรออกมาภายใน 24 ชั่วโมง
รัฐบาลอินโดนีเซียปรับลดราคาการตรวจเชื้อแบบอาร์ที-พีซีอาร์สำหรับเกาะชวาและบาหลีไว้ที่ สูงสุด 495,000 รูเปียห์ หรือประมาณ 1,138 บาท ส่วนพื้นที่นอกเกาะทั้งสองอยู่ที่ 525,000 รูเปียห์ หรือประมาณ 1,207 บาท โดยการตัดสินใจนี้มีขึ้นหลังมีกระแสวิจารณ์ว่าค่าตรวจโรคโควิด-19 ในประเทศนั้นแพงเกินไป
กรมบริการสุขภาพอินโดนีเซียได้ออกระเบียบเกี่ยวกับราคาการตรวจเชื้อแบบอาร์ที-พีซีอาร์ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค. โดยอับดุล คาเดียร์ อธิบดีกรมฯ กล่าวว่าการกำหนดราคาใหม่นี้ดำเนินการร่วมกันกับหน่วยงานกำกับดูแลการเงินและการพัฒนา
ด้านพีที คีเมีย ฟาร์มา (PT Kimia Farma) รัฐวิสาหกิจด้านเภสัชกรรม ได้ตัดสินใจลดราคาอุปกรณ์ทดสอบแบบอาร์ที-พีซีอาร์และแบบแอนติเจน เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ โดยปัจจุบันอุปกรณ์ตรวจโรคโควิด-19 แบบอาร์ที-พีซีอาร์ที่แพงที่สุดของบริษัทสนนราคา 495,000 รูเปียห์ (1,138 บาท) ขณะที่แบบแอนติเจนอยู่ที่ 125,000 รูเปียห์ หรือประมาณ 287 บาท
แวร์ดี บูดิดาร์โม ผู้อำนวยการ (President Director) ของบริษัทฯ กล่าวว่าการปรับราคาจะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงการตรวจโรคโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สุขภาพของชาวอินโดนีเซียโดยรวมดีขึ้น” ขณะที่อากัส ชานดรา รักษาการฝ่ายบริหารของบริษัทฯ กล่าวว่า บริษัทยังลดราคาอุปกรณ์ตรวจเชื้อแบบแอนติเจนเกรดทั่ว ๆ ไปให้เหลือ 85,000 รูเปียห์ หรือประมาณ 195 บาท ด้วย เป็นต้น
เมื่อวันศุกร์ (20 ส.ค.) ปวน มหาราณี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ขอให้สถานบริการสุขภาพทุกแห่ง ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาล ปฏิบัติตามกฎนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลในการส่งเสริมการตรวจโรคโควิด-19 หลังพบว่ามีสถานบริการสุขภาพ รวมถึงโรงพยาบาลในประเทศหลายแห่ง ยังไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลออกคำเตือนหรือมาตรการลงโทษ
ขณะเดียวกัน รองผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา อาห์หมัด ริเซีย แพเทรีย กล่าวในวันอาทิตย์ว่า เมืองหลวงของอินโดนีเซียได้ไปถึงระดับที่มีภูมิคุ้มกันหมู่ในการป้องกันโควิด-19 แล้ว ทำให้ขณะนี้ กรุงจาการ์ตาได้เข้าสู่ "โซนปลอดภัย" และได้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมาแล้ว หลังจากที่อัตราการติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และประชากรกรุงจาการ์ตามากกว่าร้อยละ 54 ได้รับวัคซีนครบแล้ว โดยประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนของบริษัทชิโนแวคของจีน
อย่างไรก็ตาม แพนดู รีโอโน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาแห่ง University of Indonesia กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า รองผู้ว่าฯ แพเทรีย ยังไม่เข้าใจว่า "ภูมิคุ้มกันหมู่" คืออะไร
นักระบาดวิทยาผู้นี้กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นเมื่อประชากรมากกว่าร้อยละ 80 มีภูมิคุ้มกัน นั่นหมายความว่า แม้จะฉีดวัคซีนได้ถึงร้อยละ 100 ของประชากร แต่หากวัคซีนนั้นมีประสิทธิผลเพียงแค่ร้อยละ 55 ในการป้องกันเชื้อไวรัส ก็ยังไม่สามารถมีภูมิคุ้มกันหมู่ได้