รีเซต

7รพ.นำร่องให้ "เคมีบำบัด" ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ที่บ้าน ปี'65 จ่อเปิดทุกเขตสุขภาพ 30 แห่ง

7รพ.นำร่องให้ "เคมีบำบัด" ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ที่บ้าน ปี'65 จ่อเปิดทุกเขตสุขภาพ 30 แห่ง
มติชน
9 กรกฎาคม 2563 ( 15:49 )
181
7รพ.นำร่องให้ “เคมีบำบัด” ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ที่บ้าน ปี’65 จ่อเปิดทุกเขตสุขภาพ 30 แห่ง

วันที่ 9 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.พิชัย จันทร์ศรีวงศ์ อาจารย์สาขามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าวการดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ให้เคมีบำบัดที่บ้าน ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19

นายสาธิต กล่าวว่า นอกจากรัฐบาลได้ให้การดูแลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ยังให้ความสำคัญกับโรคอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มโรคมะเร็งซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของประชาชน โดยแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละ 142,769 คน ผู้เสียชีวิต 73,000 คน เป็นผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง 13,000 ราย เสียชีวิต 5,000 ราย พบบ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย สำหรับการบูรณาการความร่วมมือ ระหว่าง รพ.รามาฯ
กรมการแพทย์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้พัฒนาบริการรูปแบบใหม่ด้วยการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy) ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล สามารถรับยาได้ตรงตามนัดทุกครั้ง ผลการรักษาดีขึ้น

“เป็นการแพทย์วิถีใหม่ (The New Normal Medical Service) ส่งเสริมมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะกับผู้ป่วยมะเร็งที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เมื่อเทียบกับคนทั่วไป รวมทั้งเกิดความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์ นำร่องตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นมา 7 แห่ง ได้แก่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, รพ.มะเร็งลพบุรี, รพ.มะเร็งชลบุรี, รพ.รามาธิบดี, รพ.ราชวิถี, รพ.จุฬาภรณ์ และรพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า ตั้งเป้า 30 โรงพยาบาลครบทุกเขตสุขภาพในปี 2565 และสนับสนุนงบประมาณปี 2563 จำนวน 4,700 ล้านบาท ให้สถาบันมะเร็งฯ โรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาค และโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เพิ่มศักยภาพดูแลผู้ป่วยมะเร็งครบวงจร

ด้าน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า โครงการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 จำนวนกว่า 1,500,000 ราย ค้นพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะเริ่มต้นกว่า 500 ราย ช่วยทำให้ผู้ป่วยรักษาหายขาดได้ แต่ยังพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแพร่กระจายแล้ว ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดและให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งจำนวนเตียงรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ อาจทำให้ได้รับยาเคมีบำบัดไม่ครบถ้วนตามรอบการให้ยา และขาดความต่อเนื่อง แก้ไขโดยการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน ซึ่งมีผลลัพธ์ทางสุขภาพร่างกายและจิตใจดีกว่า อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้ จะมีโรงพยาบาลสังกัด สธ.โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชนที่สนใจ เข้าร่วมโครงการเพื่อเตรียมความพร้อมในเดือนกรกฎาคมนี้

ขณะที่ นพ.พิชัย กล่าวว่า สำหรับแนวทางการพัฒนาบริการให้เคมีบำบัดที่บ้าน ต้องเป็นผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 3-4 ได้รับการตรวจโดยแพทย์ และเข้ารับการผ่าตัดเล็กเพื่อใส่สายบริหารยาทางหลอดเลือดดำกลางก่อนเริ่มให้ยาเคมีบำบัด 2 สัปดาห์ โดยแพทย์จะให้ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ การดูแลตนเอง รวมถึงช่องทางการติดต่อกับโรงพยาบาล และมีพยาบาลโทรติดตามอาการแบบเชิงรุก/ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย หากให้ยาครบแล้ว สามารถถอดอุปกรณ์โดยพยาบาลเยี่ยมบ้าน หรือไปโรงพยาบาล /โรงพยาบาลเครือข่าย ทั้งนี้เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและได้รับยาตรงเวลา 100% ลดค่าใช้จ่าย ลดความแออัด โดยในปี 2562 มีผู้เข้ารับการบำบัดและให้ยา 1,774 ครั้ง ลดการใช้เตียงมากกว่า 3,500 ต่อวันนอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง