เอสเอ็มอีไร้ทางออกกู้นอกระบบ วอนรัฐขยายพักหนี้อีก6เดือน
สสว.เปิดโพลสำรวจเอสเอ็มอี 78.9% วอนรัฐขยายพักชำระหนี้6เดือน 12.2%กู้นอกระบบนิยมยืมญาติพี่น้อง เน้นประคองจ้างงาน โบนัสไม่มี
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ได้สำรวจสภาพคล่องธุรกิจเอสเอ็มอี และสถานการณ์การจ้างงาน ภายหลังวิกฤตโควิด-19 ในช่วงวันที่ 20-27 มิถุนายน 2563 จากเอสเอ็มอี 2,582 ราย จาก 21 สาขาธุรกิจ แบ่งออกเป็น ภาคการผลิต การค้า และภาคการบริการ ครอบคลุมทั้ง 6 ภูมิภาค ผลการสำรวจ พบว่า เอสเอ็มอีมีการกู้ยืมเงิน 1,148 ราย คิดเป็น 44.5% แหล่งกู้ยืมเงินส่วนใหญ่มาจากสถาบันการเงิน 87.8% และกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบสถาบันการเงิน 12.2%
“การกู้นอกระบบ มีการกู้ยืมจากเพื่อน/ญาติพี่น้องมากที่สุด 7.3% รองลงมา คือ การกู้ยืมจากกองแชร์ คิดเป็น 3.0% การกู้ยืมจากนายทุนเงินกู้ คิดเป็น 1.6%
เอสเอ็มอียังต้องการให้ขยายระยะเวลามาตรการพักชำระหนี้ต่อไป 78.9% จำนวนนี้ 48.1% เห็นว่าควรขยายเวลาต่อจากเดิมไม่เกิน 6 เดือน”นายวีระพงศ์กล่าว
นายวีระพงศ์ กล่าวว่า ประเภทเงินกู้ที่ผู้ประกอบการมองว่าควรขยายระยะเวลามากที่สุด พบว่าประเภทเงินกู้สินเชื่อธุรกิจ รองลงมา คือ สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรถยนต์ตามลำดับ ส่วนใหญ่ต้องการวงเงินกู้อยู่ในช่วง 1,000 – 50,000 บาท คิดเป็น 40.3% รองลงมาคือวงเงินกู้ในช่วง 100,001 – 500,000 คิดเป็น 19.2% และวงเงินกู้ในช่วง 50,001 – 100,000 คิดเป็น 18.6%
นายวีระพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการจ้างงานปัจจุบันเฉลี่ย 8 คนต่อราย แบ่งเป็นแรงงานเฉลี่ยที่เป็นสมาชิกในครอบครัว 2 คน ลูกจ้างประจำ 4 คน และลูกจ้างรายวัน 2 คน พบว่า จำนวนแรงงาน และค่าจ้างแรงงาน กิจการส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง คิดเป็น 84.6% และ 86.1% การปรับลดจำนวนและค่าจ้างแรงงานลง คิดเป็น 12% และ 11.2% ส่วนโบนัส และค่าอาหาร ค่าที่พัก และค่าเดินทางกิจการส่วนใหญ่ไม่มีให้อยู่แล้ว