จีนเผย 'การค้นพบครั้งใหม่' ไขความลึกลับของ 'แคว้นเยียน' สมัยโบราณ
ข่าววันนี้ 22 ธ.ค. (ซินหัว) -- เมื่อไม่นานนี้ คณะนักโบราณคดีจีนค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมากที่มีความเก่าแก่สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก (1046-771 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ณ โบราณสถานแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง ซึ่งคาดว่าจะช่วยไขความลึกลับของอาณาจักรเยียนในสมัยโบราณได้
การขุดค้นที่โบราณสถานหลิวหลีเหอ ในเขตฝางซาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงปักกิ่ง เริ่มต้นในปี 2019 โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญจาก 8 สถาบัน ซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน (CASS) เข้าร่วมภารกิจขุดค้น
คณะโบราณคดีเชื่อว่าโบราณสถานหลิวหลีเหอ ซึ่งประกอบด้วยกำแพงเมืองดินอัด ซากศพ และพื้นที่ฝังศพ เป็นเมืองหลวงของแคว้นเยียนในสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก โบราณสถานแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 3,000 ปี ทำให้ถูกจัดเป็นแหล่งอารยธรรมเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในปักกิ่งเท่าที่มีการค้นพบมา
รายงานระบุว่ามีการขุดพบหลุมศพโบราณ 5 หลุม ซากอาคาร 3 หลัง โครงสร้างที่คาดว่าเป็นคูคันดินรูปร่างคล้ายวงแหวน และโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมมากกว่า 100 ชิ้น อาทิ เครื่องสัมฤทธ์ เครื่องเขิน เครื่องปั้นดินเผา เปลือกหอย วัตถุทำจากงาช้าง และผ้าไหม ในพื้นที่โบราณสถานหลิวหลีเหอ ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคมปีนี้
นอกจากนั้นคณะนักโบราณคดียังพบภาชนะสัมฤทธิ์สำหรับใส่เหล้าองุ่นในหลุมศพแห่งหนึ่ง และเชื่อว่าคำจารึกบนภาชนะดังกล่าวเป็นหลักฐานเชิงลายลักษณ์อักษร ที่บ่งชี้ถึงประวัติศาสตร์การก่อสร้างกรุงปักกิ่งอันยาวนานกว่า 3,000 ปี
สำนักมรดกทางวัฒนธรรมเทศบาลนครปักกิ่งระบุว่า เนื้อหาบนภาชนะสัมฤทธ์นี้แตกต่างจากจารึกบนสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ที่ค้นพบจากโบราณสถานหลิวหลีเหอก่อนหน้านี้ในทศวรรษ 1980 ทว่าเนื้อหาเหล่านี้ต่างเสริมข้อมูลระหว่างกัน พร้อมเสริมว่าโบราณวัตถุที่พบล้วนเป็นสิ่งของทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงแรกของอาณาจักรเยียน
กัวจิงหนิง เจ้าหน้าที่สำนักฯ เผยว่าความพยายามขุดค้นโบราณสถานหลิวหลีเหอครั้งก่อนหน้าจำเป็นต้องยุติลงเมื่อราว 40 ปีก่อน เนื่องจากระดับน้ำบาดาลเพิ่มสูงขึ้น
ด้านเฉินหมิงเจี๋ย ผู้อำนวยการสำนักฯ ระบุเพิ่มเติมว่า "การขุดครั้งล่าสุดได้ให้ข้อมูลสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับพิธีกรรม ระบบศักดินา พิธีฝังศพ และการวางผังเมืองในสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก"