เสริมเกราะให้วัคซีนด้วย MOF เก็บได้นาน 3 เดือน โดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น
ปัจจุบันหลายคนน่าจะได้เห็นบทบาทและความสำคัญของวัคซีนกันพอสมควร โดยเฉพาะในการช่วยป้องกันและลดความรุนแรงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทว่า การเดินทางของวัคซีนไปยังประเทศต่าง ๆ ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและมีข้อจำกัดมากมาย นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามคิดค้นวิธีที่จะช่วยให้วัคซีนสามารถเก็บรักษาได้นานมากขึ้น
ขั้นตอนการเก็บรักษาวัคซีนมีความสำคัญอย่างมากในระหว่างการขนส่ง วัคซีนโดยส่วนใหญ่จะต้องเก็บรักษาในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิอยู่ราว 2-8 องศาเซลเซียส ในขณะที่วัคซีนที่พัฒนาขึ้นโดยใช้ mRNA จะต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำมากถึง -70 องศาเซลเซียส (อ่านเรื่องการขนส่งวัคซีน mRNA ได้จาก ลิ้งก์นี้)
ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดข้อจำกัดในการขนส่งวัคซีน คุณลองนึกดูสิว่าหากต้องขนวัคซีนจำนวนหลายหมื่นกล่องไปส่งยังประเทศต่าง ๆ ในขณะที่ต้องรักษาอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส จะต้องใช้น้ำแข็งแห้งหรือตู้แช่ที่มีราคาแพงขนาดไหน? อีกทั้งถ้าคุณต้องขนส่งวัคซีนไปยังประเทศเขตร้อนอย่างในทวีปแอฟริกา จากสนามบินไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ก็อาจทำให้อุณหภูมิในกล่องบรรจุเพิ่มสูงขึ้นจนวัคซีนเกิดการสลายตัวไปในที่สุด
นักวิจัยจากสถาบัน CSIRO ประเทศออสเตรเลีย ได้ทดลองนำโมเลกุล Metal-organic framework (MOF) ทำหน้าที่เสมือนเป็นเกราะป้องกันอนุภาควัคซีนจากความร้อนภายนอก และเมื่อจะนำวัคซีนมาใช้งาน การผสมวัคซีนร่วมกับสารละลายอื่น ๆ จะช่วยชะล้างโมเลกุลของ MOF ออกไปจนเหลือแต่อนุภาคของวัคซีนที่สามารถนำมาฉีดเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้
เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของ MOF นักวิจัยนำวัคซีนเชื้อเป็น 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคติดต่อในสัตว์ปีก และวัคซีนป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งปกติแล้วจะสลายตัวภายใน 24 ชั่วโมง หากไม่ได้เก็บไว้ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ผลปรากฏว่าวัคซีนสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 12 สัปดาห์ในอุณหภูมิห้องและอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียสโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็นเลย
จากการทดลองทำให้เห็นว่าวัคซีนเชื้อเป็นสามารถเก็บได้นานถึง 3 เดือนโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น นับว่ามีประโยชน์อย่างมากในกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัยต่าง ๆ ในระหว่างการขนส่งและการเก็บรักษาวัคซีน ในลำดับถัดไปนักวิจัยจะพัฒนาโมเลกุล MOF นี้ให้มีความเสถียรและปลอดภัยมากขึ้น ก่อนนำไปทดลองในวัคซีน mRNA หากทำสำเร็จมันจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งวัคซีนได้มากเลยทีเดียว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก New Atlas