รีเซต

คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า : นศ.วิศวโยธา มทร.ธัญบุรี พัฒนาคอนกรีตผสมกระดูกไก่

คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า : นศ.วิศวโยธา มทร.ธัญบุรี พัฒนาคอนกรีตผสมกระดูกไก่
ข่าวสด
7 กรกฎาคม 2563 ( 22:00 )
208

 

นักศึกษาภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี พัฒนาคอนกรีตผสมกระดูกไก่ที่เหลือทิ้ง จากกระบวนการกำจัดฟลูออไรด์ในโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าของไอเดียประกอบด้วย นายศุภศิษฐ์ สีลา นายคุณานนต์ แซ่บ้าง นายจิรายุส ยีสมัน และ นายนภัสรพี แสงสว่าง โดยมี ว่าที่ร้อยเอก ดร.กิตติพงษ์ สุวีโร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ว่าที่ร้อยเอก ดร.กิตติพงษ์เล่าว่า กระดูกไก่เป็นวัสดุที่นำมาบดและเผาสำหรับใช้ดูดซึมสารฟลูออไรด์ที่ปนเปื้อนจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมและบริเวณแหล่งน้ำต่างๆ ได้ แต่เมื่อกระดูกไก่ดูดซึมสารฟลูออไรด์แล้วจะเป็นวัสดุที่กำจัดยากเนื่องจากอันตราย

ต่อสิ่งแวดล้อมและใช้ต้นทุนในการกำจัดสูง ทีมผู้วิจัยจึงมีแนวคิดนำกระดูกไก่ที่ปนเปื้อนสารฟลูออไรด์มาผสมลงในคอนกรีตเพื่อเพิ่มมูลค่าและแก้ปัญหากระดูกไก่ที่ปนเปื้อนสารฟลูออไรด์ ตลอดจนช่วยพัฒนาคุณสมบัติคอนกรีต

การวิจัยครั้งนี้ศึกษาโดยออกแบบส่วนผสมของคอนกรีตผสมกระดูกไก่บดจากการกำจัดฟลูออไรด์และขึ้นรูปเป็นคอนกรีตรูปลูกบาศก์ขนาด 15x15x15 ซ.ม. จากนั้นทดสอบคุณสมบัติทั้งทางกายภาพและทาง กลเพื่อเปรียบเทียบกับคอนกรีตทั่วไปตามมาตรฐาน ASTM และ BSI

นายศุภศิษฐ์อธิบายเพิ่มเติมว่า ผลการวิเคราะห์หาส่วนขนาดคละของมวลรวม กระดูกไก่บดมีค่าโมดูลัสความละเอียดใกล้เคียงกับทรายและผ่านข้อกำหนดของกรมทางหลวง โดยคอนกรีตจะมีค่าการยุบตัวที่น้อยลงเมื่อปริมาณของกระดูกไก่ปนเปื้อนสารฟลูออไรด์มากขึ้น

ผลการทดสอบระยะเวลาการก่อตัวของซีเมนต์เพสต์พบว่าหากภายในกระดูกไก่มีส่วนผสมของสารฟลูออไรด์อยู่มากจะส่งผลให้การก่อตัวของซีเมนต์เพสต์ใช้เวลาน้อยลงในขณะที่อุณหภูมิจากปฏิกิริยาไฮเดรชันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

นอกจากนี้การที่กระดูกไก่มีลักษณะช่องว่างในการดูดซึมสารฟลูออไรด์มากจะทำให้คอนกรีตที่ได้มีค่าน้ำหนักต่อก้อนและความต้านทานแรงอัดลดลง รวมทั้งมีการดูดซึมน้ำเพิ่มขึ้นบ้าง แต่นำไปใช้ออกแบบและใช้งานได้เช่นเดียวกับคอนกรีตทั่วไป

คอนกรีตที่ผสมกระดูกไก่จากกระบวนการกำจัดฟลูออไรด์เหมาะแก่การนำไปใช้ในงานที่ต้องการเร่งการก่อตัวของคอนกรีตให้เร็วมากขึ้น หรืองานที่ต้องการใช้คอนกรีตที่มีค่าการยุบตัวน้อย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง