ครั้งแรกในอาเซียน ! มหาวิทยาลัยขอนแก่นพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่จากแร่เกลือหิน
ทีมนักวิจัยนำโดยรศ.ดร.นงลักษณ์ มีทองจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนจากแหล่งแร่เกลือหินสำเร็จเป็นที่แรกในอาเซียน (ASEAN) โดยเป็นการใช้แร่โปแตช (Potash) หรือโพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium Chloride) เป็นสารตั้งต้นในการผลิต
แหล่งแร่โปแตช (Potash) ในประเทศไทย
จากการสำรวจของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม (กพร.) พบว่าประเทศไทยมีแร่โปแตชอยู่ และมีมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งประเทศไทยยังมีปริมาณสำรองแหล่งแร่เกลือหินในประเทศไทยถึง 18 ล้านล้านตัน ซึ่งในอนาคตเมื่อประเทศไทยมีการผลิตแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนในเชิงพาณิชย์ จะทำให้ประเทศไทยได้เปรียบคู่แข่ง เนื่องจากเรามีทั้งทรัพยากรและเทคโนโลยีการผลิตอยู่ภายในประเทศ
โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายที่จะผลักดันอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ครบวงจรภายในประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ “หนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักคืออุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่แห่งอนาคต” - ดร. ธีรวุธ ตันนุกิจ ผู้แทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว
การนำไปทดลองใช้
สำหรับปัจจุบัน มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ดำเนินการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออน จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ซึ่งถูกนำไปทดลองใช้งานจริงแล้วในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และระบบกักเก็บพลังงาน เช่น แบตเตอรี่สำหรับจักรยานไฟฟ้า และแบตเตอรี่สำรองสำหรับระบบโซลาร์เซลล์ เป็นต้น
“ในอนาคตทีมนักวิจัยมีแนวโน้มจะศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนจากแหล่งแร่เกลือหิน โดยให้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน ให้กลายเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกที่มีศักยภาพสูง ราคาประหยัด คุ้มค่ามากที่สุด ผลักดันให้ไทยกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของโลกตามเป้าของกระทรวง ฯ ต่อไป” - รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทองกล่าว
ข้อมูลและภาพจาก th.kku.ac.th