ปัจจุบัน-อนาคต ‘คลับเฮาส์’ แอพพ์สุดฮอต
ปรากฏการณ์แอพพลิเคชั่น Clubhouse (คลับเฮาส์) ดังชั่วข้ามคืนในไทย ทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง ดาราชื่อดังต่างเข้ามาร่วมใช้แอพพ์ตัวนี้ เป็นเพราะ นายอีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทเทสลา ได้ออกมาพูดถึงแผนการใช้ชีวิตบนดาวอังคารในแอพพ์คลับเฮาส์ จนมีผู้ฟังและเกิดกระแสบนโลกออนไลน์จำนวนมาก
ซึ่งเขายังเชิญ นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย มาร่วมพูดคุยในห้อง รวมไปถึงนายมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊ก ที่ให้ความสนใจเช่นกัน
คลับเฮาส์เปิดตัวตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ก่อตั้งโดยนาย Paul Davison และนาย Rohan Seth ในนามบริษัทที่มีชื่อว่า Alpha Exploration Co. ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเงินทุนในสหรัฐ ที่มีชื่อว่า Andreessen Horowitz ได้เข้าร่วมลงทุน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ และขอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมอีก 2 ล้านเหรียญสหรัฐ จนกระทั่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมามีการประเมินมูลค่าแอพพ์ดังกล่าวถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท
การทำงานของแอพพลิเคชั่นนี้ คือ เป็นแอพพ์ที่สื่อสารด้วยเสียงเท่านั้น ไม่ต้องเปิดวิดีโอ ไม่ต้องพิมพ์ข้อความ ลักษณะคล้ายพอดแคสต์ แต่ผู้พูดสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟังในห้องสนทนาได้ แต่ไม่ใช่ว่าใครจะพูดขึ้นมาก็ได้ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของห้องสนทนาก่อนเสมอ ซึ่งเจ้าของห้องจะเป็นผู้ดูแลควบคุมเปิดหรือปิดไมค์สมาชิกในห้องสนทนา
จุดเด่นของแอพพ์นี้คือ การสนทนารูปแบบเรียลไทม์ ไม่สามารถย้อนกลับมาฟังซ้ำได้ และไม่มีการบันทึกเก็บไว้
แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเล่นแอพพ์นี้ได้ ตอนนี้คลับเฮาส์รับรองการใช้งานใน ระบบไอโอเอส (iOS) เท่านั้น ผู้ใช้งานในระบบแอนดรอยด์ (Android) ยังใช้ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางบริษัทได้เปิดรับสมัครนักพัฒนาระบบแอนดรอยด์เข้ามาร่วมทำงานแล้ว คาดว่าเร็วๆ นี้อาจจะได้เห็นแอพพ์คลับเฮาส์ใช้ได้บนระบบแอนดรอยด์
ทั้งนี้ ใช่ว่าผู้ใช้ระบบไอโอเอสเองจะใช้งานแอพพ์นี้ได้ง่าย เพราะการจะเล่นแอพพ์นี้ได้ต้องได้รับคำเชิญจากสมาชิกคลับเฮาส์คนอื่นๆ เสียก่อน ชวนเราเข้าไปเล่นด้วย ซึ่งต้องทำผ่านระบบ SMS โดยเราจะต้องบันทึกเบอร์โทรศัพท์ของผู้ที่เราต้องการจะเชิญ เข้าไปในรายชื่อบันทึกเบอร์โทรของโทรศัพท์มือถือก่อน หากใส่เบอร์ผิด แล้วกดเชิญ เราก็จะเสียการเชิญไป และไม่สามารถยกเลิกได้
ตอนแรกสมาชิกสามารถเชิญเพื่อนได้ 2 คน แต่เมื่อใช้งานไประยะหนึ่งจะสามารถเชิญเพื่อนได้อีก 3 คน รวมเป็น 5 คน ความยุ่งยากนี้ทำให้เกิดการขายการเชิญในราคาหลักร้อยถึงหลักพันกันเลยทีเดียว
ทางด้าน นายเจริญ ลักษณ์เลิศกุล คอลัมนิสต์แห่งเว็บไซต์ marketingoops.com มองแอพพ์คลับเฮาส์ ว่า คลับเฮาส์เป็นการถอยหลังของรูปแบบคอนเทนต์ จากวิดีโอถอยกลับไปเหลือแค่เสียง แต่กลับเป็นจุดดี เพราะว่าการพูดนั้นง่าย ไม่ต้องจัดแสง ไม่ต้องมีฉาก ไม่ต้องตั้งกล้อง ไม่ต้องตัดต่อ ไม่ต้องห่วงสวยหล่อ เพราะไม่มีใครเห็น ทำให้ปัจจัยส่วนเกินของตัวคอนเทนต์หายไป เหลือแต่เนื้อหาของคอนเทนต์จริงๆ คือเสียงพูด
นายเจริญกล่าวว่า คลับเฮาส์ไม่ใช่เสียงที่บันทึกไว้อย่าง พอดแคสต์ (Podcast) แต่เป็นรายการสดเท่านั้น ฟังย้อนหลังไม่ได้ สวนทางกับกระแสออนดีมานด์ (on demand) ที่สามารถเลือกฟังอะไรก็ได้ตลอดเวลา และการที่ไม่มีการบันทึกให้ฟังย้อนหลัง ทำให้ผู้พูด ไม่ต้องกลัวจะพูดผิด ลดความประหม่า ในการเล่าเรื่อง
นายเจริญมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่คิดจะสร้างห้องพูดคุยสนทนา ถ้ามีผู้ร่วมดำเนินรายการสนทนากันอย่างน้อย 2 คน จะแบ่งเบา ความเหนื่อย และทำให้การสนทนาต่อเนื่องดีกว่าพูดคนเดียว ถ้าประเด็นที่จะพูดหมด อาจจะใช้การตั้งคำถาม ซึ่งมักทำให้เกิดการสนทนา การแชร์ได้ต่อ และอาจจะมีผู้เข้าฟัง ยกมือ อยากร่วมสนทนาด้วย
สำหรับมุมมองต่อคลับเฮาส์ นายเจริญไม่ได้รู้สึกว่าจะมาทดแทนเครื่องมือสื่อสารทั่วไป แต่เป็นเครื่องมือสำหรับอินฟลูเอนเซอร์ (influencers), ดารา, ผู้นำทางความคิด, นักการตลาด, เทรนเนอร์ ครู อาจารย์ และผู้ที่ต้องการจะแชร์เรื่องราว ความรู้ ความคิด ในรูปแบบของรายการทอล์กโชว์แบบนี้ คล้ายกับการจัดเสวนา การจัดอบรม แบบง่ายๆ และเข้าถึงคนทั่วโลก หลากหลายภาษา
ในปัจจุบันคลับเฮาส์ยังใช้งานฟรี และไม่มีโฆษณาใดๆ ในระบบ ทำให้ผู้ใช้ใช้กันเพลิน ง่าย สบายตา ไม่มีอะไรมาขัด จึงน่าจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เติบโตอย่างรวดเร็ว
แต่ก็มีข้อควรระวังถึงกฎระเบียบการใช้งานของแอพพ์ โดย นายชาคริต จันทร์รุ่งสกุล ผู้ก่อตั้งบริษัท ไฟร์ วัน วัน จำกัด ระบุว่า คนไทยใช้คลับเฮาส์กันเยอะขึ้น เริ่มเห็นการปรับแต่งต่างๆ อีกทั้งบริษัทต่างๆ เริ่มเข้ามากันเยอะขึ้นเรื่อยๆ ต้องระวังบางเรื่อง เช่น การละเมิดกฎระเบียบการใช้งาน ตอนนี้อาจจะยังไม่เข้มข้นนัก (เพราะคนตรวจสอบอาจจะมีน้อย) แต่ถ้าเริ่มแหกกฎหนักขึ้น คลับเฮาส์ก็คงเริ่มแบนเพื่อรักษาคุณค่าหลักของเขาเอาไว้ให้ได้นานที่สุด
นายชาคริตกล่าวว่า การบันทึกเสียง มีความพยายามกันมาตั้งแต่สัปดาห์แรกๆ ที่เริ่มใช้กันในเมืองไทย มองว่าเป็นการละเมิดผู้ใช้งานที่เป็นผู้พูดด้วย ความเห็นของเขาที่พูด อาจจะไม่อยากให้มีการบันทึกเอาไว้ ทางคลับเฮาส์เขียนเอาไว้ชัดเจนว่าผู้ใช้งานแสดงความเห็นอยู่บนความเชื่อที่ว่าทุกอย่างจะไม่มีการบันทึกเสียง ดังนั้น การที่ไม่เตือนก่อนว่ามีการบันทึกจึงไม่ถูกต้อง และคลับเฮาส์ก็เขียนกฎตรงนี้ไว้ชัดเพื่อป้องกันตัวในกรณีที่มีคดีเกิดขึ้น
แม้เพิ่งเปิดตัวไม่นาน แต่แอพพ์อย่างคลับเฮาส์เริ่มจะมีคู่แข่งเข้ามาชิงตลาดจากตรงนี้ อย่างทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก ได้ประกาศทดสอบแอพพ์ที่มีการทำงานคล้ายๆ กับคลับเฮาส์แล้ว
ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้เห็นสมรภูมิการแข่งขันที่ดุเดือดเลยทีเดียว